12 มี.ค. 2553 วงการสีกาได้สูญเสียตำรวจฝีมือดีไปอีกราย เมื่อ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ถูกคนร้ายซุ่มโจมตีด้วยการวางระเบิดรถยนต์ และยิงถล่มซ้ำด้วยอาวุธสงคราม ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่บ้านทับช้าง ต.ตลิ่งชัน ขณะที่นำกำลังออกปฏิบัติการ กดดันแนวร่วมขบวนการ ซึ่งนั่นคือปฏิบัติการสุดท้ายของ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา หรือ “จ่าเพียร ขาเหล็ก” ที่เป็นสมญานามของ พ.ต.อ.สมเพียร ที่ได้ทำหน้าที่ ปกป้องประเทศชาติ และประชาชน ด้วย “ชีวิต” ปิดฉากชีวิตของนักรบ นักสู้ แห่งเทือกเขาบูโด อันลื่อลั่นกว่า 40 ปี
จากการปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทั่งเคยได้รับการโปรดเกล้าฯ เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง กระทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปี 2525 จากการเสนอขอพระราชทานโดย พลเอกเทียนชัย ศิริสัมพันธ์ เป็นตำรวจชั้นประทวนคนแรกที่ได้รับพระราชทาน
พล.ต.อ.สมเพียร เกิดวันที่ 6 พฤศจิกายน 2493 ที่ ต.วังใหญ่ อ.เทพา จ.สงขลา จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนมัธยมเทพา มัธยมศึกษาตอนปลายจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาเข้าเรียนที่โรงเรียนตำรวจภูธร 9 จังหวัดยะลา เมื่อปี 2513 (นพต. รุ่น 15) เริ่มต้นชีวิตรับราชการตำรวจที่ สภอ.บันนังสตา จ.ยะลา
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 ในขณะที่ พล.ต.อ.สมเพียร นั่งรถยนต์กระบะโตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ 4 ประตู สีน้ำตาล หมายเลขทะเบียน กข 9302 ยะลา พร้อมลูกน้อง 3 นาย และ อส.คนสนิท อีก 1 นาย ออกไปติดตามหาข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ หลังทราบข่าวว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ได้ออกมาเคลื่อนไหวในพื้นที่ เพื่อเตรียมก่อเหตุร้ายครั้งใหญ่ รถยนต์ขับมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ มีคนร้ายไม่ทราบกลุ่ม จำนวน 5-8 คน กดระเบิดที่ฝังไว้ และใช้อาวุธสงครามยิงเข้าใส่ จำนวนหลายชุด เกิดการปะทะกันประมาณ 10 นาที เมื่อกำลังเสริมเข้าไปกลุ่มคนร้ายได้ล่าถอยเข้าไปในป่า ทั้งหมดถูกลำเลียงทั้งทางรถยนต์ และทางเฮลิคอปเตอร์เป็นการด่วน
แรงระเบิดและคมกระสุนส่งผลให้ “จ่าเพียร” ทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิตที่ รพ.ศูนย์ยะลา สิริอายุ 59 ปี และได้รับพระราชทานยศ พลตำรวจเอก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทยเป็นกรณีพิเศษ โดยก่อนหน้านั้นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 “จ่าเพียร” ได้เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อร้องเรียนกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับรอง ผบก.สว. ที่ผ่านมา
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นความจำนงขอพิจารณาโยกย้ายเป็น ผกก.สภ.กันตัง จ.ตรัง พื้นที่ของ บช.ภาค 9 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ว่างอยู่ ในปีสุดท้ายก่อนจะเกษียณอายุราชการ แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา ครั้งนั้นผู้กำกับกระดูกเหล็ก ถึงกับหลั่งน้ำตาและเปิดใจตัดพ้อไว้ว่า…
“…รับราชการตำรวจมาร่วม 40 ปี และใช้ชีวิตอยู่ใน สภ.บันนังสตา มานานตั้งแต่สมัยชั้นประทวน ต่อสู้กับคนร้ายจนรอดตายมาหลายครั้ง ได้รับบาดเจ็บสาหัสก็หลายหน ครั้งนี้รู้สึกเหนื่อยล้า และเป็นปีสุดท้ายก่อนจะเกษียณอายุราชการ จึงขอโยกย้ายออกนอกพื้นที่ไปอยู่บ้านภรรยาที่ตรัง ผู้บังคับบัญชารับปากจะพิจารณาให้ย้ายไปที่โรงพักดังกล่าว แต่พอคำสั่งแต่งตั้งมาปรากฏว่าไม่ได้ย้าย คงอยากจะทำเรื่องขอพระราชทานยศ พล.ต.อ.ให้ตนตอนตายแล้วมากกว่า…”
หลังการเสียชีวิตของ “จ่าเพียร” วันที่ 17 มีนาคม 2553 เมื่อเวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เพื่อเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ณ วัดคลองเปล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ยังความปลื้มปีติให้แก่ครอบครัวของ พล.ต.อ.สมเพียร เป็นล้นพ้น
ปัจจุบันรูปปั้น “จ่าเพียร” ซึ่งมีการสร้างไว้ใน “วัดคลองเปล” เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานในคุณงามความดีของนายตำรวจ พร้อมบทประพันธ์สดุดีความกล้าหาญ ที่สละชีพเพื่อชาติ “วีรชนคนกล้าของแผ่นดิน” มีเนื้อความว่า “…จากลูกพล สู่นายพล ด้วยผจญความร้อนหนาว ผ่านศึกทุกครั้งคราว บากบั่นสู้ไม่ถอยหนี จากแรงกายสู่แรงใจ ทุ่มเทให้ในหน้าที่ สละเลือดเป็นชาติพลี ขอสดุดี “จ่าเพียร”