เมื่อวันที่ 29 ส.ค. รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “ไล่ตามจับ…ต้องไวแค่ไหนจึงจะมีหวังคุมโรคระบาดได้? Juneau CE และคณะ เป็นทีมวิจัยจากแคนาดา อเมริกา และออสเตรีย ทำการทบทวนข้อมูลวิชาการอย่างเป็นระบบเพื่อหาทางตอบคำถามข้างต้น มีงานวิจัยอยู่ 32 ชิ้น 14 ชิ้นเป็นงานวิจัยเชิงสังเกต และอีก 18 ชิ้นเป็นงานวิจัยคาดการณ์แบบโมเดล

ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ ถ้าจะคุมการระบาดได้ ทีมสอบสวนโรคจะมีเวลาอยู่ 2-3 วันนับจากวันที่ผู้ติดเชื้อเริ่มมีอาการ เพื่อจะตามหาผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อมาให้ได้อย่างน้อย 80% ของทั้งหมด นำมาตรวจหาเชื้อและนำเข้าสู่ระบบกักตัว

อย่างไรก็ตาม หากจะมาใช้สำหรับสถานการณ์ระบาดของไทย ซึ่งกระจายไปทั่ว และระบาดหนักมาต่อเนื่องยาวนาน ข้อมูลข้างต้นน่าจะมีประโยชน์ในลักษณะที่ช่วยลดโอกาสปะทุรุนแรงในแต่ละพื้นที่

ดังนั้น หน่วยงานในพื้นที่ต่างๆ หากมีทีมสอบสวนโรคที่เข้มแข็ง และร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อเตรียมรับมือเวลาได้รับรายงานการติดเชื้อใหม่ขึ้นมาในพื้นที่ ก็คงจะช่วยได้มาก เพื่อปกป้องถิ่นฐานบ้านเกิดและแหล่งทำมาหากินของเราเอง

จากหลักวิชาการแพทย์ และจากข้อมูลที่เห็นจากต่างประเทศ การเปิดกิจการและกิจกรรมต่างๆ ย่อมทำให้โอกาสพบปะติดต่อ สัมผัส ใกล้ชิด มากขึ้น หรือมีโอกาสที่คนแต่ละคนจะลดการป้องกันตัวลงได้ในบางสถานการณ์แน่นอน เช่น การกินดื่มในร้านอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร หรือกิจกรรมในสวนสาธารณะ เป็นต้น และหากเป็นเช่นนั้น อัตราการติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น เป็นไปตามธรรมชาติของโรคระบาด การป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง จึงสำคัญมาก

อ้างอิง Juneau CE et al. Effective Contact Tracing for COVID-19: A Systematic Review. MedRxiv. 25 July 2021.”

ขอบคุณและภาพประกอบ : Thira Woratanarat