14 พ.ค.นี้!! คนไทยที่มีสิทธิ ได้ใช้สิทธิแน่ๆ เพื่อเลือกพรรคการเมืองและนักการเมือง ที่นิยมชมชอบหรือมั่นใจในฝีมือ ให้เข้ามาบริหารประเทศ ด้วยเหตุนี้…บรรดาพรรคการเมืองต่างเดินสายหาเสียงขึ้นเวทีปราศรัย งัดสารพัดนโยบายขายฝัน เพื่อเรียกคะแนนเสียง แต่นโยบายขายฝันเหล่านี้…ก็กลายเป็นคำถาม ทั้งจากบรรดารากหญ้า รากแก้ว มนุษย์เงินเดือน คนทำงาน รวมทั้งภาคธุรกิจ ที่ต่างก็ตั้งคำถามว่า นโยบายเหล่านี้ทำได้จริงแค่ไหน? จะนำเงินงบประมาณจากที่ไหน? มาสนับสนุน หลังจากที่เคยเจ็บตัวกับอดีตมาแล้ว โดยเฉพาะเรื่องค่าแรง จึงได้เห็น 3 บิ๊กภาคเอกชน ทั้ง สภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือเฟทโก้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. รวมถึง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย ต่างเปิดเวทีดีเบต ให้พรรคการเมือง มาโชว์วิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจ มาตอบคำถามถึงความเป็นไปได้ของนโยบายหาเสียง

เรียกได้ว่า…ในแต่ละเวทีดีเบตของภาคเอกชนนั้น บรรดาพรรคการเมืองต่างประชันนโยบายกันเต็มที่ ทั้งการแก้กฎหมายล้าสมัย 1,400 ฉบับ การเลิกเก็บภาษีหุ้น การแฮร์คัตลูกหนี้ นโยบายหวยใบเสร็จ เปิดการชำระเงินรูปแบบใหม่ ให้ประชาชนอายุ 16 ปีทุกคน มีเงินดิจิทัลเป็นของตัวเอง นโยบายเศรษฐกิจใหม่ ให้ท่องเที่ยวเติบโตเร็วที่สุด แก้หนี้เติมทุน รายเล็กล้มแล้วลุก หั่นค่าการตลาดบริษัทน้ำมันไม่เกิน 1 บาทต่อลิตร ดันอุตสาหกรรมใหม่ๆ นโยบายต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมาเท่านั้น แต่ในมุมมองของบิ๊กธุรกิจหลังจากฟังดีเบตแล้ว…ใช่หรือไม่ใช่!! 

มองนโยบายยังไม่ชัด

เริ่มจาก “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” อดีตประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) ที่มองว่า หลังจากเชิญ 9 พรรคการเมืองมาประชันนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยภายใต้รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ได้พบว่าแต่ละพรรคการเมืองยังไม่ได้ลงรายละเอียดในแต่ละนโยบายของตัวเองกันมากนัก แต่ที่เห็นคือทั้ง 9 พรรค เห็นความสำคัญของตลาดทุนและมีนโยบายที่อาจทำให้ตลาดทุนเข้มแข็งขึ้น อีกทั้งผลตอบรับจากนักลงทุนและบริษัทจดทะเบียน ยังมีไม่มากเท่าใด จึงต้องติดตามดูต่อไปว่าแผนงานรายละเอียดจะออกมาอย่างไร โดยเห็นว่า เรื่องนี้ยังมีเวลาอีกเยอะ

เห็นได้ว่า…ทางพรรคการเมืองไม่มีนโยบายที่พูดเรื่องตลาดทุน แต่ก็เข้าใจได้เพราะตลาดทุนไม่ได้ใหญ่มากในช่วงหาเสียงและคงต้องเน้นไปที่นโยบายประชานิยม ซึ่งเป็นฐานเสียงส่วนใหญ่มากกว่า ทำให้สภาตลาดทุนตั้งใจจัดงานนี้ขึ้นมาเพราะเชื่อว่าทุกพรรคน่าจะมีความคิดในใจแต่ไม่มีเวทีที่มีโอกาสพูด อีกทั้งทำให้ได้รับทราบว่าจากนี้ประเทศไทยจะเดินไปทางไหน โดยเฉพาะเศรษฐกิจและตลาดทุนซึ่งเป็นกลไกสร้างรายได้ให้กับรัฐและโครงการต่างๆ ว่าแต่ละพรรคมีนโยบายเด็ดๆ อะไรบ้าง นักลงทุนจะได้อะไร บรรยากาศการลงทุนจะดีขึ้นอย่างไร และช่วยพัฒนาส่งเสริมตลาดทุนไทยอย่างไรที่ให้ประเทศไทยผลัดใบก้าวขึ้นไปในอีกระดับหนึ่ง

ข่าวดีไม่เก็บภาษีหุ้น

แต่ข้อดี คือ ในเรื่องการเก็บภาษีขายหุ้น ซึ่งมีหลายพรรคที่ไม่เห็นด้วย ในการผลักดันต่อ ถือว่าเป็นข่าวดี อีกทั้งหลายพรรคเสนอให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีการลงทุนในกองทุนคล้ายกับ แอลทีเอฟ หรือกองทุนรวมระยะยาว ที่หลายพรรคการเมืองมองในทิศทางเดียวกันว่า น่าจะดี หากนำกลับมาใช้ประโยชน์ทบทวนใหม่ และทั้ง 9 พรรค ให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอี ซึ่งตรงกับแนวทางของสภาตลาดทุน ที่พยายามผลักดันให้เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้น และเท่าที่ฟังนโยบายแล้วก็คล้ายๆ กันแต่วิธีการต่างกันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งไม่ว่าพรรคไหนจะมาเป็นรัฐบาล ทางสภาตลาดทุนมีแผนผลักดันแนวทางแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค โดยสังคายนากฎหมาย กฎระเบียบ ที่ล้าหลังใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน โดยขณะนี้ได้จ้างหน่วยงานที่เชี่ยวชาญมาช่วยดูเรื่องกฎหมายที่เป็นอุปสรรค และมีอะไรที่จะต้องปรับแก้โดยได้กำลังศึกษาในเรื่องนี้อยู่ และหากรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วมีความคิดเห็นตรงกันและผลักดันในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นก็จะช่วยเสริมสร้างตลาดทุน เพื่อให้ทันสมัยสอดคล้องกับยุคดิจิทัล

Photo concept of tax payment optimisation business financeman using calculator and taxes icon on technology screenincome tax and property background for business individuals and corporations such as vat

จี้หันมาใช้ตลาดทุน

นอกจากนี้ อยากเห็นรัฐบาลเข้ามาใช้ตลาดทุนมากขึ้น จากที่ผ่านมาเข้ามาใช้น้อยมากเพราะส่วนใหญ่กู้เงินมาใช้เป็นหลัก ส่วนแนวทางนโยบายของพรรคหนึ่งที่เสนอให้นำธุรกิจสีเทาเข้ามาอยู่ในระบบนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะช่วยสร้างความโปร่งใสและรัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยโดยไม่ต้องมาเก็บภาษีขายหุ้น แต่สามารถเก็บภาษีที่เกิดขึ้นในระบบปัจจุบันเช่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ใหญ่กว่ามาก จากภาคธุรกิจต่างๆ ที่เข้ามาในระบบ

ตั้งรัฐบาลใหม่ให้เร็ว

หันมาอีกหนึ่งเวที ที่เปิดให้บรรดาพรรคการเมือง มาโชว์วิสัยทัศน์ มาดีเบต คือเวทีของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. โดย “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธาน ส.อ.ท. เห็นว่า เป็นเรื่องดีที่ได้ให้ทั้ง 9 พรรคการเมือง มานำเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปข้างหน้า โดย ส.อ.ท. ได้รวบรวมและจัดทำหนังสือที่รวบรวมจากการทำประชามติ และการศึกษาจากการเสวนาที่รวบรวมจากบริษัทที่ปรึกษาระดับสากล

สิ่งสำคัญที่อยากได้ คือ อยากเห็นรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะต้องมีทิศทางที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อฟื้นฟูและปรับตัวในกลุ่มนิว อีโคโนมี ท่ามกลางความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หรือเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น สิ่งแวดล้อม หรือมาตรการต่างๆ ว่าจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมเดิมๆ ที่มีอยู่ จะแข่งขันได้หรือไม่ รวมถึงต้นทุนพลังงาน กฎหมายที่ล้าสมัย ซึ่งอยากให้ทำจริงจังและทำให้เกิดผล เป็นเรื่องความสำคัญ อย่างเรื่องค่าไฟฟ้าที่ต้องดำเนินการ ถ้าเป็นอย่างนี้อยู่ ความสามารถในการแข่งขันเราก็แพ้ รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาต้องดำเนินการปรับค่าไฟฟ้าใหม่ทั้งระบบ

ปราบคอร์รัปชั่นให้หมด

นอกจากความสามารถในการแข่งขันก็ต้องดึงดูดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ หรือเอฟดีไอ เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งต้องรีบแก้ไข เพื่อดึงดูดเม็ดเงินดังกล่าวเข้ามาลงทุน การที่เราจะทรานฟอร์มอุตสาหกรรม ก้าวสู่โลว์คาร์บอน หรืออุตสาหกรรมสะอาด สีเขียว มีความยั่งยืน ถือเป็นภารกิจที่รัฐบาลใหม่เข้ามาฟื้นฟูและทำต่อเนื่อง และยังมีอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญต้องแก้ไข ปัญหาคอร์รัปชั่น ทำอย่างไรที่ทุกพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ อย่างตอนนี้นักลงทุนญี่ปุ่น เริ่มมีการเปรียบเทียบการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านที่มองว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องของการคอร์รัปชั่นที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย

Photo businessman rejecting money in the envelope, anti bribery concept

ขอลดความขัดแย้ง

ขณะที่ เวทีดีเบตที่จัดโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย ที่อาจแตกต่างจากเวทีดีเบตอื่น เพราะได้เปิดให้ซีอีโอชั้นนำของประเทศมาตั้งคำถามเพื่อให้พรรคการเมืองตอบ ก่อนจะสรุปนโยบายของแต่ละพรรคนั้น “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า หลังจากฟังเวทีดีเบตแล้ว สิ่งที่ต้องการฝากรัฐบาลใหม่ คือ อยากให้รัฐบาลจัดตั้งได้โดยเร็ว ภายหลังการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.นี้ เพื่อมาขับเคลื่อนนโยบาย โดยภาคธุรกิจมีความตั้งใจที่อยากเห็นรัฐบาลชุดใหม่ มีเสถียรภาพ เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ลดความขัดแย้ง สานต่อนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยเฉพาะกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ หอการค้าได้รวบรวมคำถามจากภาคเอกชนและคำตอบจากพรรคการเมือง จัดทำเป็นสมุดปกขาวมอบให้ทุกพรรคการเมืองที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น โดยในรายละเอียด มีทั้งประเด็นและข้อเสนอทางออกว่า อยากให้ขับเคลื่อนประเทศในหัวข้อไหนบ้าง เริ่มจาก Why ให้ทราบถึงเหตุผลว่าทำไมประเด็นนี้จึงสำคัญ What อะไรที่เราเห็นว่าสำคัญ เสริมด้วย และ How เพื่อเสนอว่า จะทำให้สำเร็จได้อย่างไร ซึ่งภาคธุรกิจอยากเห็นทุกพรรคการเมืองนำข้อเสนอไปปรับใช้กับนโยบาย โดยคำนึงถึงการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติสูงสุด

ยกระดับขีดความสามารถ

นอกจากนี้ ยังมีการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีภาคธุรกิจ อยากให้มีการสานต่อเรื่องความยากง่ายในการประกอบธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม เพราะถือเป็นประตูด่านแรกในการสร้างการดึงดูดการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ โดยนำดิจิทัล ทรานฟอร์เมชัน มาใช้เพื่อให้บริการภาครัฐมีความรวดเร็ว สะดวก และมีความโปร่งใส รวมถึงส่งต่อแนวทางความยั่งยืนสู่คนรุ่นใหม่ในอนาคต ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไปลงทุนในต่างประเทศ

รวมถึงประเด็นความยั่งยืน คงไม่ใช่ทางเลือกสำหรับประเทศไทย แต่จะเป็นทางรอดในการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ภาคธุรกิจจึงอยากให้พรรคการเมืองมีแนวทางที่ชัดเจน ที่จะนำประเทศไทยปรับตัวเข้าสู่แนวคิดความยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งแนวทางบีซีจี เอสดีจี และอีเอสจี ให้เกิดการรับรู้และปรับใช้ในทุกระดับของสังคม โดยภาคธุรกิจพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการเริ่มต้นและสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป และยังมีเรื่องการศึกษาไทย อยากให้เพิ่มการเข้าถึงระบบการศึกษาของเยาวชน ด้วยเทคโนโลยีซึ่งจะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต และการพัฒนาแรงงานไทย จำเป็นที่จะต้องเร่งการเจรจาการค้าให้ได้ต่อเนื่องเพื่อสร้างแต้มต่อให้กับประเทศไทยในการแข่งขันบนเวทีโลก ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาลจะต้องถือเป็นนโยบายประเทศไม่ใช่นโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่ง เช่นเดียวกับการส่งเสริมภาคธุรกิจเกษตร อาหาร การส่งเสริมภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นต้น

Free photo business concept with team close up

พอใจนโยบายหาเสียง

ขณะที่ “ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการในเวทีดีเบตของหอการค้าไทย ยอมรับว่า พรรคการเมืองทำการบ้านเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ ค่อนข้างดี มีตัวเลข ข้อมูลสนับสนุนการหาเสียงที่แม่นยำ ไม่เลื่อนลอย รวมถึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการประชาชนได้ตรงจุด ทั้งนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการรักษาพยาบาล การพัฒนาการศึกษา การพักหนี้ มาตรการภาษี อย่างไรก็ตาม ภาพนโยบายส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงหลักการ หรือภาพกว้างซึ่งยังขาดการลงรายละเอียด แต่เข้าใจว่าด้วยเวทีดีเบต มีเวลาน้อย หรือป้ายหาเสียงก็มีพื้นที่จำกัด ทำให้มีโอกาสฉายภาพรายละเอียดได้ไม่มาก ดังนั้น สิ่งที่อยากเห็นพรรคการเมืองทำเพิ่ม คือการนำนโยบายต่าง ๆ  ต้องลงรายละเอียดถึงวิธีปฏิบัติ ตัวเลขการใช้งบประมาณ และวิธีการหาแหล่งเงินมาใช้ มาจัดลงในเว็บไซต์ ซึ่งตรงนี้น่าจะตอบโจทย์ได้ดีและทำให้ประชาชน ภาคธุรกิจมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น มีข้อมูลมากขึ้น เพื่อใช้ตัดสินใจ

มุมมองหลากหลาย

ส่วนข้อสรุปการเปิดเวที “มุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ” ที่หอการค้าไทยเชิญผู้บริหารภาคเอกชน มาเสนอมุมมองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อพรรคการเมือง 10 พรรคนั้น ถือว่ามีมุมมองที่หลากหลาย และเป็นวิธีที่แตกต่างจากเดิมที่จะให้นักการเมืองพูดและเอกชนเป็นคนฟัง จำแนกความเห็นได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหญ่ ที่มีการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ จะให้ความสนใจต่อนโยบายการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ดิจิทัล การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพิ่มศักยภาพแรงงาน ความมั่นคงทางพลังงาน การส่งเสริมการลงทุน ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศ นโยบายการพัฒนาเกษตรมูลค่าสูงผ่านนโยบายบีซีจี รวมถึงแผนสนับสนุนธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวซึ่งมีสัดส่วน 20% ของจีดีพี

ขณะที่กลุ่มต่อมาเป็นธุรกิจรุ่นใหญ่ในประเทศ มีความต้องการถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และการเปิดรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนแผนกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการค้าชายแดน ขณะที่กลุ่มนักธุรกิจจากต่างประเทศ เช่น หอการค้าสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความสนใจต่อการส่งเสริมการลงทุน การเอื้ออำนวยความสะดวกต่อการแก้กฎระเบียบเพื่อให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยง่ายขึ้น

Free photo corporate businessmen shaking hands

หนุนเข้าถึงแหล่งเงิน

กลุ่มสุดท้าย!! เป็นคนรุ่นใหม่ เช่น ธุรกิจรายเล็ก เอสเอ็มอี รวมถึงสตาร์ทอัพ ที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายกว่าเดิม รวมถึงต้องการเวทีในการสะท้อนความเห็นต่อการจัดทำนโยบาย หรือการบริหารของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม เนื่องจากธุรกิจรายเล็กเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศแต่ยังขาดเวที ต่างจากรายใหญ่ที่มีการนำเสนอความเห็น ผ่านคณะกรรมการนโยบายร่วมภาคเอกชนได้ เช่นเดียวกับกลุ่มเด็ก เยาวชน นักศึกษาต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนนโยบายดิจิทัล ภาษา ความเท่าเทียมทางสังคม และการดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะยังต้องอยู่กับสังคมและประเทศนี้อีกนาน

สำหรับคำตอบจากพรรคการเมือง ภาคเอกชนก็รู้สึกพอใจ ซึ่งมีนโยบายที่ค่อนข้างตอบโจทย์ความต้องการของนักธุรกิจได้ดี ไม่ว่าจะเป็นนโยบายพลังงาน การค้าเสรี การลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากเข้าใจว่าปีนี้ทุกพรรคมีนักธุรกิจ ผู้คร่ำหวอด ที่เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจ เข้าไปเป็นคีย์แมนต่อการกำหนดนโยบายของพรรค ทำให้ภาคธุรกิจค่อนข้างโอเคกับภาพรวมของนโยบายที่ออกมา

ทั้งหลายทั้งปวง!! เป็นอารมณ์ เป็นความรู้สึกของภาคเอกชนที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง ก็ต้องจับตากันต่อไปว่าสารพัดนโยบายด้านเศรษฐกิจที่พรั่งพรูกันออกมานั้น จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?.

ทีมเศรษฐกิจเดลินิวส์