เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนโลกออนไลน์ได้มีการแชร์เรื่องราวจากสมาชิกผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ที่ใช้ชื่อว่า เศรษฐสิทธิ์ เศรษฐการุณย์ หลังได้ออกมาเผยประสบการณ์ของการปวดท้องหนัก และต้องการหาห้องน้ำที่ใกล้ที่สุด จึงเป็นที่มาของการคิดค้นการสร้างแอปพลิเคชัน เพื่อชี้เป้าห้องน้ำที่ใกล้ตัวที่สุดในเวลาฉุกเฉิน

โดยผู้โพสต์ระบุข้อความว่า “วันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมกับเพื่อนคนหนึ่งนั่งรถตู้จากอนุสาวรีย์ชัยไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อจะไปกินบัวลอยกับเพื่อนอีกคนที่เรียนที่นั่น ทันทีที่ลงจากรถ เขาบอกผมว่า “เราต้องหาห้องน้ำ” ฉับพลันนั้นผมก็รู้ได้ทันทีว่าเขาต้องกำลังปวดขี้อยู่อย่างแน่นอน บางที เขาอาจจะอั้นขี้มาตลอดเวลาที่นั่งอยู่บนรถตู้เลยก็ได้

เราเดินข้ามถนนคลองหลวง เข้าไปในมหาวิทยาลัย เราเดินไป มองหาป้ายห้องน้ำไป แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าจะเจอ จริงๆ จะถามคนแถวนั้นก็คงได้ แต่ไม่ เราไม่ทำแบบนั้น ผมหยิบมือถือขึ้นมา เปิดแอป Google Maps แล้วค้นหา “ห้องน้ำ” แต่ผลการค้นหาที่ใกล้ที่สุดก็อยู่ห่างออกไปเกือบกิโล วินาทีนั้น ผมสิ้นหวัง และคิดว่าเขาจะขี้แตกเมื่อไหร่ก็คงขึ้นอยู่กับเวลา

ผมตัดสินใจไม่บอกผลการค้นหาของ Google Maps ให้เขาฟัง ผมเก็บมือถือลงกระเป๋ากางเกงเงียบๆ พร้อมๆ กับที่เขาจะเอ่ยพึมพำออกมาว่า “ถ้ามีแอปหาห้องน้ำก็คงดี”

“ก็เข้าท่า” ผมตอบกลับ เราจะตัดสินใจเดิมพันเวลาที่เหลืออยู่ด้วยการเดินเข้าไปในอาคารคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ด้วยความเชื่อที่ว่า “ตึกตั้งใหญ่ มันต้องมีห้องน้ำสักที่แหละวะ” ทันทีที่เดินเข้าไป เราก็เห็นป้ายนำทางที่ชี้ไปทางซ้ายมือ เขียนว่า “Toilet” เราเดินตามไปด้วยศรัทธาอันแรงกล้า และในที่สุด เพื่อนผมก็ได้ขี้

หลังจากวันนั้น ความคิดเรื่องแอปหาห้องน้ำก็หายไปจากหัวของผม จนกระทั่งวันที่ผมไปกินก๋วยเตี๋ยวกับเพื่อนคนนี้อีกครั้ง

วันนั้นเป็นวันที่ 5 มีนาคม เราตั้งใจจะไปกินก๋วยเตี๋ยวต้มยำตำลึงนายเอก สาขาวงเวียนบางเขน เราขึ้นบีทีเอสจากสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านกรมป่าไม้ บางบัว และคราวนี้เป็นผมเองที่เริ่มปวดขี้ที่สถานีกรมทหารราบที่ 11 ทันทีที่เราลงที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เป็นผมที่บอกกับเขาว่า “เราต้องหาห้องน้ำ” ผมหยิบมือถือขึ้นมา เปิดแอป Google Maps ค้นหา “ห้องน้ำ” แล้วก็เป็นอีกครั้งที่แอปนี้ไม่สามารถกอบกู้สถานการณ์ของผมได้

ด้วยการแสดงผลการค้นหา เป็นห้องน้ำโลตัสหลักสี่ที่อยู่ห่างออกไปหกร้อยเมตร วินาทีนั้น ผมยืนบนสถานีวัดพระศรีมหาธาตุสูงลิ่วที่ตั้งอยู่กลางวงเวียนบางเขน ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวจนเหงื่อเป็นเม็ด มองลงมาไม่เห็นอะไรนอกจากถนน รถยนต์ และอาคารมากมายที่ไม่รู้จัก มันคือความสิ้นหวัง วินาทีนี้เองที่ความคิดเรื่องแอปหาห้องน้ำกลับเข้ามาในหัวผมอีกครั้ง

นี่เป็นอีกครั้งที่ผมตัดสินใจวัดดวงกับการยึดมั่นในเป้าหมายเดิม “ก๋วยเตี๋ยวต้มยำตำลึงนายเอก” ผมค้นหาในแอป Google Maps แล้วเดินตามเส้นทางที่แอปแสดงจนมาถึงร้านด้วยความเชื่อที่ว่า “ร้านตั้งใหญ่ มันต้องมีห้องน้ำแหละวะ”

เป็นไม่กี่ครั้งที่ผมมองหาป้ายห้องน้ำก่อนเมนูอาหาร หลังจากที่เดินเข้ามาในร้านอาหาร แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังหาไม่เจอ จนกระทั่งนั่งอ่านเมนู สั่งอาหาร และพนักงานเดินไปส่งออร์เดอร์ ผมก็ยังหาไม่เจอ

ในที่สุด ผมยอมทิ้งศักดิ์ศรีอันไร้ค่าแล้วเดินไปถามพนักงานคนหนึ่งว่า “มีห้องน้ำไหมครับ” และนั่นก็เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ผมได้รับคำชี้นำให้เดินไปตามเส้นทางแห่งการหลุดพ้น ผ่านเข้าไปยังพื้นที่หลังร้าน สู่ห้องน้ำที่ผนังฉาบด้วยปูนเปลือย ที่มีทั้งสายชำระและขันน้ำในห้องเดียวกัน มันเป็นห้องน้ำที่ไม่ถึงกับน่าขี้ แต่ก็เป็นห้องน้ำที่ดี

ผมกลับบ้านมาใช้เวลาที่เหลืออยู่ของปิดเทอมในการเรียนรู้ภาษาใหม่เพื่อเขียนแอปตัวนี้ให้ใช้งานได้ทั้งบน Android และ iOS ด้วยภาพอุดมคติที่ว่า ถ้ามีคนคนหนึ่งบอกผมว่าห้องน้ำที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ไหน โดยที่ผมไม่ต้องเอ่ยปากถาม ไม่สำคัญว่าเขาเป็นใคร เขาคือฮีโร่

นี่คือแอป “ขี้” แอปที่ให้ผู้ใช้สามารถสร้างบัญชีเข้ามาปักหมุดห้องน้ำแก่ผู้ใช้คนอื่นๆ หรือหาห้องน้ำจากหมุดที่ผู้ใช้คนอื่นๆ เคยปักเอาไว้ เหนือสิ่งอื่นใด ผู้ใช้สามารถตั้ง Username และ Biography ได้อย่างอิสระ โดยที่อีเมลลงทะเบียนของผู้ใช้จะถูกเก็บเป็นความลับ เพื่อให้ผู้ใช้ทุกคนสามารถเป็นฮีโร่ภายใต้หน้ากากและผ้าคลุมได้อย่างสง่างาม

แอปนี้คือผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรมของสิ่งที่ผมยึดมั่น ยึดมั่นว่าเราอาจเป็นฮีโร่ของทุกคนไม่ได้ แต่เราเป็นฮีโร่ของใครบางคนได้เสมอ แค่ปักห้องน้ำแอปนี้โดยการคลิกที่ปุ่มรูปขี้ แล้วคลิกที่ตำแหน่งที่มีห้องน้ำในแผนที่ แค่นี้ นายเองก็เป็นได้นะ… ฮีโร่น่ะ…”

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปเป็นสาธารณะ ต่างก็มีชาวเน็ตจำนวนมาก เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย..

ขอบคุณภาพประกอบ : เศรษฐสิทธิ์ เศรษฐการุณย์