จากกรณีข่าวการเสียชีวิตของ “หลินฮุ่ย” แพนด้าอายุ 21 ปี ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวจีน ถ่ายภาพช่วงก่อน “หลินฮุ่ย” จะเสียชีวิต โดยมีอาการเลือดไหลจากจมูกและบาดแผลที่คอ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การดูแลของสัตว์เชียงใหม่อย่างกว้างขวาง ตามที่ปรากฏเหตุการณ์ไปแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 สวนสัตว์เชียงใหม่ นายเดชบุญ มาประเสริฐ ประธานกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ และทีมสัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์เชียงใหม่ ร่วมกันแถลงข่าวข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
โดย นายเดชบุญ กล่าวว่า วานนี้ 18 เม.ย. เวลา 11.00 น. ตนได้รับรายงานจาก นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ และทีมสัตว์แพทย์ พี่เลี้ยงหลินฮุ่ย พบว่าหลินฮุ่ยเกิดล้มป่วยลง มีเลือดออกจากจมูก หลังจากรับประทานอาหารตามปกติ ก่อนเข้าไปนอนจุดที่ชื่นชอบบนผาด้านบนของส่วนจัดแสดง ก่อนจะเกิดอาการเลือดไหล เจ้าหน้าที่นำเข้ารักษา พร้อมแจ้งไปยังทางการจีน ก่อนจะได้หารือรักษาร่วมกับทีมสัตวแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญ จากเมืองเฉิงตู จนกระทั่งในเวลา 01.10 นาฬิกา ได้เสียชีวิตลง ส่วนสาเหตุการเสียชีวิต ต้องรอทีมจากจีนมาร่วมผ่าพิสูจน์หาสาเหตุอีกครั้ง
ขณะที่ นายวุฒิชัย กล่าวว่า หลังเราได้รับแจ้งว่าหลินฮุ่ย ป่วยมีเลือดไหล ทางสถานกงสุลใหญ่จีน ได้ส่ง คุณหยางโจ่ง รองกงสุลใหญ่และเจ้าหน้าที่เข้ามาสังเกตการณ์ พร้อมกับประสานงานไปยังศูนย์อนุรักษ์หมีแพนด้า ที่เฉิงตู เพื่อให้คำแนะนำการรักษาผ่านระบบออนไลน์ (Wechat) ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง จนถึงเวลา 01.00 น. ของวันที่ 19 เมษายน 2566 หมีแพนด้าหลินฮุ่ยมีอาการเกร็ง ทีมสัตวแพทย์ได้ทำการรักษาตามคำแนะนำของทางจีน จนสุดความสามารถ จากนั้นในเวลา 01.10 น. หมีแพนด้าหลินฮุ่ย จากไปอย่างสงบ ซึ่งจากนี้เราก็จะทำการชันสูตรหาสาเหตุการตายร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนว่า สาเหตุการตายที่แท้จริงเกิดจากอะไร ซึ่งคงจะใช้เวลาราว ๆ 2 เดือน ในการชันสูตร และส่งซากศพกลับไปยังประเทศจีน เพราะแพนด้าถือเป็นสมบัติของประเทศจีน
สำหรับแพนด้าหลินฮุ่น เราก็กำลังมีการประสานงานคุยกันเรื่องการส่งกลับไปยังจีน ในช่วงเดือนตุลาคม ตามสัญญา ซึ่งโครงการวิจัยหมีแพนด้าของประเทศไทย เราก็จะสรุปโครงการในตอนส่งหลินฮุ่ยกลับ ซึ่งที่ผ่านมา ทางการจีนก็มองและชมประเทศไทยเราตลอดว่า ดูแลหมีได้ดีมากที่สุด และอาจจะมีการต่อโครงการไปอีกในอนาคต สำหรับหลินฮุ่ย ก็เหมือนช่วงช่วง เรามีการทำประกันชีวิตไว้จำนวนเงิน 15 ล้านบาท ซึ่งเราก็ต้องดำเนินการชดเชยให้ทางการจีนตามสัญญา
ด้านนายสัตวแพทย์ เทวราช เวชมนัส แพทย์ผู้ดูลหมีแพนด้ามาตลอดเปิดเผยว่า แพนด้าหลินฮุ่ย วัย 21 ปี เป็นแพนด้าที่ชราภาพแล้ว ก่อนปล่อยออกในส่วนจัดแสดง ต้องตรวจสุขภาพทุกครั้ง ซึ่งก็มีอาการปกติดีทุกอย่าง ส่วนช่วงเกิดเหตุไม่มีการแสดงสัญญาณอาการป่วยมาก่อน ยอมรับว่าช็อกเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมา มีรายงานพบแพนด้าเลือดออกแล้วตายแบบนี้ 2-3 ตัว เช่นกันในอดีต ส่วนผลหรือสาเหตุต้องรอการชันสูตรอีกครั้ง
สำหรับหลินฮุ่ย (ภาษาจีน: 林惠, Lin Hui) เป็นชื่อของแพนด้ายักษ์เพศเมีย ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ประเทศไทยยืมจัดแสดงที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ในฐานะทูตสันถวไมตรีไทย-จีน โดยจัดแสดงคู่กับ ช่วงช่วง แพนด้ายักษ์เพศผู้ ตั้งแต่วันที่ 12 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 มีชื่อไทยว่า “เทวี” และมีชื่อล้านนาว่า “คำเอื้อย”
แพนด้า “หลินฮุ่ย” เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2544 ที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ เขตอนุรักษ์วู่หลง เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน เกิดจากแพนด้าตัวผู้ชื่อ Pan Pan (Studbook number:308) และแพนด้าตัวเมียชื่อ Tang Tang (Studbook number:446) ซึ่งหลินฮุ่ย ให้กำเนินลูกเมื่อปี 2552 ชื่อ หลินปิง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก
สำหรับประวัติแพนด้ายักษ์ช่วงช่วง และหลินฮุ่ย ที่มาอยู่ประเทศไทย เกิดจากโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2544 พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้เดินทางไปราชการที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และได้เจรจาขอหมีแพนด้าจากประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธ ไมตรีระหว่างประเทศ
ต่อมาเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย แจ้งว่า รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนยินดีมอบหมีแพนด้า 1 คู่ ให้ประเทศไทย จนมีการดำเนินการก่อสร้างศูนย์วิจัยหมีแพนด้าในประเทศไทย และรับมอบมาถึงจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2546 ซึ่งช่วงช่วงและหลินฮุ่ย ก็อยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ มีการวิจัย จนทั้งสองสามารถสืบพันธ์ุ ทั้งผสมจริงและผสมเทียม จนกำเนิดลูกน้อยหลินปิง เมื่อปี 2552