ภาพจำของคนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึง “กระทรวงการต่างประเทศ” จะนึกถึงการทำหนังสือเดินทาง การดูแลคนไทยในต่างประเทศ การเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยเวทีประชุมนานาชาติต่างๆ อาทิ อาเซียน เอเปค สหประชาชาติ  หรือการเจรจาเขตแดน ฯลฯ แต่กระทรวงการต่างประเทศยังมีภารกิจสำคัญอีกประการคือความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ  รับผิดชอบโดย “กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ” หรือ Thailand International Cooperation Agency :  TICA เรียกสั้น ๆ ว่า “ไทก้า” ภายใต้การบริหารงานของนักการทูตมืออาชีพ “อุรีรัชต์ เจริญโต” อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ  

อธิบดีกรมความร่วมมือฯ เล่าว่า กรมความร่วมมือฯ เป็นกรมใหม่ล่าสุดของกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2558  แต่เดิมข้าราชการในอดีตจะรู้จักกรมวิเทศสหการ ขณะนั้นสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผลจากการปฏิรูประบบราชการของประเทศไทยปี พ.ศ.2540 ได้ยุบกรมวิเทศสหการ และตั้งสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ต่อมาได้ยกสถานะขึ้นเป็นกรมความร่วมมือฯ โดยมีภารกิจในการดำเนินความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งประเทศอื่น ๆ นำไปสู่การขยายความร่วมมือด้านต่าง ๆ และเสริมสร้างความเข้าใจอันดีและความใกล้ชิดระหว่างกัน กรมความร่วมมือฯ ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก (National Focal Point) รับผิดชอบงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทย โดยบูรณาการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในภาพรวมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน

ภารกิจสำคัญของกรมความร่วมมือฯ มี 2 ประการ ได้แก่ ร่วมมือกับต่างประเทศ และองค์กรต่างประเทศในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อให้เกิดการพัฒนาภายในประเทศไทยซึ่งรวมทั้งการนำความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงจากต่างประเทศมาพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานไทย และขยายบทบาทประเทศไทยในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศต่าง ๆ ผ่านรูปแบบการให้ทุนศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน การส่งผู้เชี่ยวชาญและอาสาสมัครไทยไปถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งการสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อให้การดำเนินงานของผู้รับเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานในการดำเนินงาน

“งานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ หรือการทูตเพื่อการพัฒนาอาจไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายนักในประเทศไทย หลายคนสงสัยและไม่เข้าใจว่า ทำไมประเทศไทยต้องให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่ต่างประเทศ ทั้งๆ ที่มีหลายสิ่งหลายอย่างและหลายพื้นที่ในประเทศไทยเองที่ยังต้องการการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ต้องบอกว่าในยุคไร้พรมแดนเช่นปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ร่วมกันบนโลกนี้ ไม่ว่าประเทศเล็กหรือใหญ่ ประเทศร่ำรวยหรือยากจน ต้องพึ่งพาอาศัย เกื้อกูล ร่วมมือซึ่งกันและกันเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 ไม่มีประเทศไหนสามารถอยู่คนเดียวได้ในโลก หากเรามีศักยภาพในการป้องกันโรคมากแต่เพื่อนบ้านที่อยู่รอบบ้านมีศักยภาพในการดูแลการระบาดของโรคไม่เท่ากัน เราก็ไม่สามารถที่จะควบคุมโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโรคได้  ดังนั้นบทบาทของกรมความร่วมมือฯ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาจึงให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศผู้รับให้เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การขยายความร่วมมือไปในด้านอื่น ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงระหว่างกัน”

การพัฒนาระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ในปัจจุบันประเทศไทยได้เปลี่ยนสถานะจากการที่เคยเป็น “ผู้รับ” มาเป็น “ผู้ให้” และ “หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา” การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยตั้งแต่อดีต ส่วนหนึ่งได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศทั้งในรูปเงินทุนและเทคนิควิชาการเพื่อมาสนับสนุนการพัฒนาประเทศทั้งโครงสร้างพื้นฐานและความรู้ทางวิชาการด้านต่าง ๆ จนเวลานี้ ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับการพัฒนาขึ้นสู่การเป็นประเทศรายได้ระดับปานกลาง ในแง่นี้ถือว่า ประเทศไทยได้สะสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ มาถึงระดับที่น่าพอใจแล้ว  วันนี้ไทยจึงพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน สันติสุขและความยั่งยืนของภูมิภาคและของโลก

นางอุรีรัชต์ กล่าวว่า การให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาถือเป็น “Soft Power” ของรัฐบาลไทย นอกจากเป็นไปเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ยังเป็นเครื่องมือในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่งเสริมสถานะ ภาพลักษณ์ และเกียรติภูมิของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ช่วยขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะว่าไปแล้วงานความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นเรื่องไม่ไกลจากตัวเราเลย เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบหรือเกี่ยวข้องต่อเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พวกเราที่กระทรวงการต่างประเทศถือว่าการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนานี้เป็นการดำเนินงานนโยบายระหว่างประเทศเชิงรุกที่สร้างสรรค์ในการส่งเสริมความสัมพันธ์กับมิตรประเทศ โดยเฉพาะระดับประชาชนกับประชาชนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมือด้านอื่น ๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยและประเทศมีความร่วมมือด้วย โดยเฉพาะยุคสมัยปัจจุบัน ที่ผลประโยชน์ของประเทศไทยกว้างขวางและข้ามเลยเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไปแล้ว

กรมความร่วมมือฯ ดำเนินความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบการเข้าไปดำเนินโครงการในพื้นที่ การให้ทุนการศึกษา ทุนฝึกอบรม การจัดส่งผู้เชี่ยวชาญและอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends  from Thailand)  เพื่อตอบสนองนโยบายในการพัฒนาประเทศของรัฐบาล รวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนสนับสนุนให้ประเทศคู่ร่วมมือมีองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practices) ที่ได้รับจากไทยไปปรับใช้เพื่อยกระดับสภาพเศรษฐกิจและสังคม และลดช่องว่างทางการพัฒนานำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

 ที่ผ่านมามีผลงานเป็นรูปธรรม อาทิ  การสนับสนุนทุนศึกษาและทุนฝึกอบรมให้แก่ผู้รับทุนจากประเทศต่าง ๆ ปีละกว่า 1,000 ทุน ในสาขาที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ได้แก่  หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  (Sufficiency Economy Philosophy)   สาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ สาขาอื่น ๆ  การดำเนินงานโครงการพัฒนา ทั้งในระดับทวิภาคี และระดับภูมิภาคภายใต้กรอบความร่วมมือกับประประเทศต่าง ๆ กว่า 130 โครงการ โดยเป็นการให้ความร่วมมือแก่ประเทศเพื่อนบ้านในสัดส่วนที่มากที่สุด

ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 นางอุรีรัชต์ เผยว่า ผลงานดำเนินงานที่สำคัญช่วงปีที่ผ่านมา ได้แก่ งานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรับมือโรคโควิด-19 เป็นการดำเนินงานบนหลักการที่ว่า ประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อทางบกกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นระยะทางรวมกันหลายพันกิโลเมตร และการระบาดเป็นการระบาดระดับ Global Pandemic ที่ส่งผลกระทบเชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ดังนั้นการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนที่สุดต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นกำลังเสริมสำคัญ โดยหลักการที่ว่าหากประเทศเพื่อนบ้านปลอดภัย ประเทศไทยก็จะปลอดภัยเช่นกัน ความร่วมมือเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 แบ่งออกเป็นระยะสั้น ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของไทยผ่านระบบออนไลน์ ในหัวข้อเกี่ยวกับการรับมือกับโรคโควิด-19 และระยะกลางและระยะยาว ที่เป็นการวางระบบเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ต่าง ๆ โดยการพัฒนาศักยภาพการตรวจเชื้อของห้องปฏิบัติการทั้งตามแนวชายแดนและเมืองหลวง โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขไทยเป็นผู้ออกแบบอุปกรณ์และห้องปฏิบัติการที่สามารถใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพสูง

สำหรับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในระยะต่อไปจะสนับสนุนนโยบายเร่งด่วนและสำคัญของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน 2 มิติหลัก (1) มิติด้านเศรษฐกิจ  ส่งเสริมการค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านส่งเสริมและพัฒนาการค้าชายแดน ช่วยเหลือ/สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs แสวงหาโอกาสทางธุรกิจในต่างประเทศ ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออกไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ส่งเสริม Medical Tourism (2) มิติด้านความมั่นคงของมนุษย์ เสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพในระดับภูมิภาคและการดำเนินงานของไทยในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะแนวชายแดนไทย – เพื่อนบ้าน โดยความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับต่างประเทศหลังโควิด-19 จะน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  (SEP) ไปประยุกต์ใช้ในประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านอาชีพ ด้านอาหาร และด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน

การทำงานร่วมกันระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศกับคู่ร่วมมือและพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา องค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาต่างประเทศ เอ็นจีโอ ตลอดจนประเทศพันธมิตรนั้น ได้รับการนำเสนออยู่ในตราสัญลักษณ์ของกรมความร่วมมือฯ ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจในการดำเนินงานของทุกภาคส่วนที่ช่วยสนับสนุนและเติมเต็มการพัฒนาจากจุดเริ่มต้นไปสู่ระดับที่ใหญ่ขึ้นจนสามารถเติมเต็มการพัฒนาให้สมบูรณ์และยั่งยืนได้ในที่สุด.