นับเป็นอีกหนึ่งข่าวที่ทำเอาสังคมไทยต่างสะเทือนขวัญ พร้อมติดตามความคืบหน้ากันอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับคดีของ นางสรารัตน์ รังสิวุฒาพรณ์ หรือ “แอม” ภรรยาของนายตำรวจจังหวัดราชบุรี ผู้ต้องหาคดี ฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หลังพบสารพิษในร่างกายของเพื่อนสาว ซึ่งภายหลังยังพบว่า พฤติกรรมของ แอม ไปเกี่ยวโยงกับการเสียชีวิตปริศนาของบุคคลอีก 20 ราย ที่มีลักษณะเดียวกัน

ซึ่งหากเราพูดถึงสารอันตรายอย่าง “ไซยาไนด์” นั้น ทางสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ โดยคุณพรรณพร กะตะจิตต์ ได้เคยเผยข้อมูลที่คนไทยหลายๆ คนอาจจะยังไม่เคยรู้ถึง “สารไซยาไนด์ที่อยู่ในกิ้งกือ!” โดยความอันตรายของกิ้งกือ สีสันสดใสที่ถูกค้นพบใหม่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา เนื่องด้วยรูปแบบที่โดดเด่นและมีความหลากหลายมากกว่ากิ้งกือชนิดอื่นๆ ที่เคยพบมาก่อนหน้านั้น เป็นทั้งแรงดึงดูดและคำเตือนสำหรับนักล่าในห่วงโซ่อาหาร

สิ่งมีชีวิตหลายขาที่เรียกว่า Apheloria polychrome นั้นเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของกิ้งกือที่เพิ่งถูกค้นพบในพื้นป่าของเทือกเขาคัมเบอร์แลนด์ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย โดยพบลำตัวมีเปลือกแข็งสีดำหุ้มอยู่ภายนอก มีจุดสีที่แตกต่างกัน ส่วนขามีสีแดงหรือสีเหลือง ซึ่งในส่วนของเปลือกหุ้มที่มีลวดลายหลากหลายจะถูกเคลือบไว้ด้วยสารไซยาไนด์ (Cyanide) ที่เป็นพิษ ทั้งนี้เกิดจากกลไกการป้องกันตัวที่พบได้ทั่วไปในกิ้งกือและสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ที่จะมีการหลั่งของสารเคมีอย่างเช่น ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) หรือเบนซิลไซยาไนด์ (Benzoyl cyanide) เมื่อพวกมันรู้สึกถึงภัยคุกคามและถูกรบกวน นอกจากนี้ กิ้งกือยังปล่อยสารเคมีอื่น ๆ เช่น เมนดีโลไนไตรล์เบนโซเอต (Mandelonitrile benzoate) และเบนซาลดีไฮด์ (Benzaldehyde) ที่เป็นทั้งสารพิษในการป้องกันตัวและเป็นยาปฏิชีวนะในบางครั้ง

กิ้งกือจะใช้อาวุธเคมีของพวกมันแตกต่างกัน บางตัวจะค่อย ๆ ปล่อยสารออกมาจากต่อมชนิดพิเศษ ในขณะที่บางตัวจะม้วนตัวเพื่อบีบสารพิษออกมา หรือพ่นสารไปยังผู้ล่าโดยตรง ทั้งนี้ตัวของพวกมันเองจะไม่ได้รับอันตราย เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่อสารพิษที่ผลิตขึ้นเอง และนั่นจึงเป็นความพิเศษที่ทำให้กิ้งกือแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ยิ่งกว่านั้น กิ้งกือชนิดนี้ยังมีรูปแบบของสีสันที่พวกมันใช้หลบเลี่ยงต่อนักล่าอย่างน้อย 6 รูปแบบ ที่แตกต่างกันอาทิ มีลำตัวสีดำ มีจุดแต้มตามลำตัวสีเหลือง ขาสีเหลือง หรือมีลำตัวสีดำ จุดแต้มสีขาว และมีขาสีแดง เป็นต้น

/กิ้งกือสายพันธุ์ Apheloria polychrome ที่มีรูปแบบสีสันแตกต่างกัน 6 รูปแบบ
ที่มา https://sciencebriefss.com/life-news/the-most-colorful-millipede-specie-has-just-been-discovered

กิ้งกือ A. polychrome หรือได้รับการขนานนามว่าเป็น “Colorful Cherry Millipede” โดยในส่วนเชอร์รี่นั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสีสัน แต่หมายถึงกลิ่นของเบนซาลดีไฮด์จากเบนซาลดีไฮด์ ไซยาโนไฮดริน (benzaldehyde cyanohydrin) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่สังเคราะห์ขึ้นและเก็บไว้ในต่อมพิเศษ เมื่อพวกมันรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม มันจะหลั่ง cyanohydrins ออกมาจากต่อมพิเศษ และแตกตัวโดยมีเอนไซม์เป็นตัวเร่งเพื่อสร้าง Hydrogen cyanide (HCN) และปล่อยแก๊สนั้นออกสู่สภาพแวดล้อมในทันที เพื่อป้องกันตัวเองจากนักล่าทั้งหลายที่เข้าใกล้มัน

ภาพแสดงการแตกตัวของ Benzaldehyde cyanohydrin
ที่มา พรรณพร

นอกจากนี้ทีมนักวิจัยยังพบกิ้งกือสายพันธุ์อื่น ๆ ที่มีการปรับตัวให้มีลวดลายและสีสันที่สะดุดตาเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากผู้ล่าได้เช่นเดียวกับสายพันธุ์ที่พบ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Müllerian mimicry ซึ่งเป็นหนึ่งในวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการคัดเลือกตามธรรมชาติที่เกิดจากสัตว์สองชนิดหรือมากกว่าที่ทั้งมีและไม่ได้มีความสัมพันธุ์ใกล้ชิดหรือเกี่ยวข้องกัน โดยสัตว์ชนิดหนึ่งมีการปรับตัวเลียนแบบสิ่งมีชีวิตที่เป็นแม่แบบเพื่อประโยชน์ในเรื่องการป้องกันตัวเองจากนักล่า อย่างไรก็ดี หากสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธในการป้องกันตัว สามารถปรับตัวเลียนแบบได้ จึงเป็นที่น่าสนใจสำหรับสิ่งมีชีวิตที่เป็นอันตรายมากกว่า

ภาพด้านซ้ายคือผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา (Danaus chrysippus) และภาพด้านขวาคือผีเสื้อหนอนข้าวสารลายเสือ (Danaus genutia) เป็นตัวอย่างการปรับตัวเลียนแบบที่เรียกว่า Müllerian mimicry
ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Mullerian_mimicry

แม้ว่าลวดลายหรือสีสันดังกล่าวจะสามารถป้องกันอันตรายที่มาถึงตัวได้ แต่ก็ดูเหมือนว่าประโยชน์นั้นจะเป็นประโยชน์ในทางเดียว ที่อาจใช้ได้ผลกับสัตว์ชนิดเดิม ทั้งนี้การปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ก็ทำให้นักล่าสามารถจดจำรูปแบบและหลีกเลี่ยงอันตรายได้มากขึ้นเช่นกัน

กิ้งกือสายพันธุ์ A. polychrome ถูกค้นพบโดย Paul Marek นักวิจัยจากสถาบันโพลีเทคนิคและมหาวิทยาลัยรัฐเวอร์จิเนีย ผู้ซึ่งเคยค้นพบกิ้งกือที่มีขามากที่สุดเท่าที่เคยพบมาก่อนหน้า และเป็นผู้ที่พยายามค้นหาสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาจสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ ก่อนที่จะได้รับการระบุตัวตน เขากล่าวว่า “มันเป็นความจำเป็นที่ต้องอธิบายและจัดหมวดหมู่สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต เพื่อให้ทราบถึงบทบาทของพวกมันในระบบนิเวศ รวมทั้งผลกระทบของมนุษย์ที่มีต่อตัวพวกมันด้วย”

กิ้งกืออาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทำให้ใครคนรู้สึกกลัวหรือขยะแขยง แต่บทบาทของกิ้งกือในธรรมชาตินั้น มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศมาอย่างยาวนาน ด้วยการเป็นสิ่งมีชีวิตที่ช่วยย่อยสลายและกินเศษซากพืช ใบไม้ และถ่ายออกมาเป็นมูลสารอินทรีย์ที่ช่วยเพิ่มแร่ธาตุในดิน รวมทั้งยังเป็นอาหารให้แก่เชื้อจุลินทรีย์ เชื้อรา และพืชต่างๆ

นอกจากนี้ ทางด้าน แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ได้เคยให้คำแนะนำถึงอันตรายของกิ้งกือ เอาไว้ด้วยว่า “กิ้งกือบางสายพันธุ์เท่านั้น ที่จะมีต่อมพิษอยู่ตลอดสองข้างลำตัว สามารถฉีดสารพิษพุ่งออกไปได้ไกล สารพิษมีลักษณะเป็นของเหลวใสไม่มีสี ประกอบด้วยสารกลุ่มไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ฟีนอล (Phenol) กลุ่มเบนโซควินิน และไฮโดรควิโนน (Benzoquinones/hydroquinones) มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังไหม้ แผลไหม้ มีอาการปวด 2-3 วัน รวมทั้งการระคายเคืองร่วมด้วย ทั้งนี้ หากถูกพิษของกิ้งกือให้ล้างด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด ทายาแก้อักเสบ โดยทั่วไปอาการมักจะหายภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากพิษเข้าตาอาจทำให้ตาอักเสบ ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดและรีบปรึกษาจักษุแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการอักเสบของตาที่อาจเพิ่มมากขึ้น”..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @scimath,@กรมการแพทย์