นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหนี้ที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ปี 66 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม 41,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 271.2% โดยมีผลมาจากการเติบโตของรายได้การขนส่งผู้โดยสาร ในการกลับมาให้บริการเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสาร และเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่เป็นที่นิยม อาทิ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และจีน โดยอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) ในเส้นทางทวีปยุโรป ออสเตรเลีย และประเทศญี่ปุ่น อยู่ในระดับที่สูงมากกว่า 80%

นายชาย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 13,034 ล้านบาท ดีกว่าไตรมาส 1/2565 ที่ขาดทุน 3,167 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิของบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสูงถึง 12,523 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนหน้าขาดทุนสุทธิ 3,243 ล้านบาท สำหรับแนวโน้มในไตรมาส 2 ปี 66 เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) จึงคาดว่าเคบิ้นแฟกเตอร์จะอยู่ที่ประมาณ 70% แต่ทั้งนี้ ภาพรวมครึ่งปีแรกของปี 66 คาดการณ์ว่าจะเติบโตมากกว่า 100% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายชาย กล่าวอีกว่า ส่วนภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 66 มั่นใจว่าจะมีรายได้รวมประมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาท ผู้โดยสารราว 9 ล้านคน มีเคบิ้นแฟกเตอร์เฉลี่ยในระดับ 77-78% จากนั้นจะเติบโตต่อเนื่องในปี 67 คาดการณ์ว่า จะมีรายได้สูงสุดอยู่ที่ 1.6 แสนล้านบาท ผู้โดยสาร 12 ล้านคน และมีเคบิ้นแฟกเตอร์เฉลี่ย 80% ซึ่งเติบโตจากปัจจัยความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร และการปรับโครงสร้างธุรกิจที่การบินไทยกำลังดำเนินการควบรวมบริหารสายการบินไทยสมายล์ให้เสร็จภายในปีนี้ โดยจะนำครื่องบิน 20 ลำ กลับมาบริหารภายใต้การบินไทย จะทำให้การบินไทยมีขีดความสามารถในการใช้เครื่องบินมากขึ้น นำไปเพิ่มความถี่ และเปิดจุดบินใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น ญี่ปุ่น และจีน

นายชาย กล่าวด้วยว่า ในปี 66 บริษัทฯ มีแผนรับมอบเครื่องบินจากการเช่าเพิ่มเข้ามาอีก 4 ลำ ซึ่งปัจจุบันเริ่มรับมอบมาแล้ว 1 ลำ และจะเข้ามาครบจำนวนในช่วง ส.ค.-ก.ย.นี้ ทำให้ไตรมาส 3 ปี 66 บริษัทฯ จะมีฝูงบินเพิ่มขึ้น และจะส่งผลให้ช่วงไตรมาส 3 ปี 66 เป็นต้นไป การบินไทยจะมีขีดความสามารถในการใช้เครื่องบินมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าสัปดาห์หน้าจะเสนอแผนการควบรวมไทยสมายล์ให้คณะกรรมการเจ้าหนี้พิจารณา หากเห็นชอบต้องแจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และกระทรวงคมนาคม เพื่อปรับแผนนำเครื่องบินแอร์บัส 320 ที่การบินไทยเคยให้ไทยสมายล์ทำสัญญาเช่าเครื่อง นำกลับมาให้การบินไทยใช้งานเอง

นายชาย กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการฟื้นฟูกิจการฯ จากผลการดำเนินงานที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง และทำให้ปัจจุบันการบินไทยมีกระแสเงินสด (แคชโฟว์) ในมือสูงถึง 42,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 5,757 ล้านบาท การบินไทยจึงประเมินว่าจะสามารถนำองค์กรออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ก่อนกำหนดภายในปี 67 สำหรับแผนชำระหนี้คืนเจ้าหนี้นั้น ในกลางปี 67 การบินไทยจะเริ่มจ่ายหนี้ส่วนแรกวงเงิน 8 พันล้านบาท ให้แก่เจ้าหนี้การค้า และคาดการณ์ว่าจะสามารถจ่ายหนี้ทั้งหมดวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ภายในปี 77 ขณะเดียวกันจะเร่งทยอยชำระหนี้บัตรโดยสารรวมประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันทยอยชำระในลักษณะรีฟันด์บัตรโดยสารไปแล้ว 1.3 หมื่นล้านบาท คงเหลือประมาณ 5 พันล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการรีฟันด์แล้วเสร็จภายในปีนี้

นายชาย กล่าวด้วยว่า จากผลการดำเนินงานของการบินไทยที่บวกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการทุ่มเทของพนักงานการบินไทย ดังนั้นในเดือน พ.ค.นี้ การบินไทยจึงมีมติปรับขึ้นเงินเดือนพนักงาน 5% เพื่อสร้างขวัญ และกำลังใจในการทำงาน ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงานประมาณ 11,000 คน นอกจากนี้ยังมีแผนปรับเพิ่มค่าแรงพนักงานที่ปฏิบัติงานบริการภาคพื้นด้านต่างๆ มากขึ้น หวังดึงดูดพนักงานกลุ่มนี้ให้กลับมาทำงานเหมือนเดิม เพราะขณะนี้ขาดแคลนพนักงานกลุ่มนี้มาก และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญงานดังกล่าวมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น การที่ ทอท. เตรียมเปิดหาผู้ประกอบการรายที่ 3 จะยิ่งทำให้มีการดึงตัวคนกลุ่มนี้ ส่งผลให้สายการบินจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น และท้ายที่สุดจะไปส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารจากการปรับราคาค่าตั๋วโดยสารเพิ่มขึ้น.