เมื่อเร็วๆ นี้ นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ ผู้ช่วย รมว.อว. และ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการ รมว.อว. ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมวิทยาลัยชุมชนตราด (วชช.ตราด) ระหว่างวันที่ 22-24 พ.ค. 2566 โดยมี ดร.กรรณิการ์ สุภาภา ผู้อำนวยการ วชช.ตราด และคณะให้การต้อนรับ

โดยพื้นที่ที่ทาง “วชช.ตราด” ได้นำไปเยี่ยมชม มีตั้งแต่แหล่งเรียนรู้ของชุมชน ที่สวนผลอำไพ แหล่งเรียนรู้ชุมชนเพื่อส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ภายใต้ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายของ วชช.ตราด, การดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ชุมชนโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area Based) ด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน, การแปรรูปอาหาร การสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น การวิจัยช่างศิลป์ทองถิ่น “การจัดสานคุ้มเมืองตราด” ณ บ้านแหลมมะขาม, หลักสูตรฝึกอบรม “ผู้สูงอายุกับความสุขกายสบายใจ” และการแปรรูปอาหารทะเลบ้านตาหนึก รวมทั้งนิทรรศการดำเนินงานโครงการจัดการความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน/การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในเศรษฐกิจพิเศษตราด และศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการขยะ บ้านปลายนา เป็นต้น

นายสัมพันธ์ กล่าวว่า จากการเยี่ยมชมและติดตามการดำเนินงานของ วชช. ประมาณ 5-6 วิทยาลัย พบว่า วชช.ส่วนใหญ่จะมีศักยภาพ มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ทั้งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งอาจารย์รุ่นใหม่สามารถทำงานวิจัยได้ทุกคน และงานวิจัยส่วนใหญ่จะมีความเชื่อมโยงกับชุมชน ดังนั้น หากส่วนกลางได้เข้าไปสนับสนุน ประสานความร่วมมือ หรือสร้างเครือข่ายระหว่าง วชช. กับส่วนกลาง หรือมหาวิทยาลัย เชื่อว่าจะทำให้ วชช.และชุมชนมีการพัฒนามากขึ้น

“หลังจากลงไปเยี่ยมชมและติดตามการดำเนินงาน การจัดการเรียนการสอนของ วชช.ในแต่ละจังหวัดได้มีประสานไปยังนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยในอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และหน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง เพื่อต่อยอดหรือร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน หรือเสริมการทำงานของวชช.ให้มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยขณะนี้มีนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยได้ลงไปในพื้นที่ วชช.สมุทรสาคร ซึ่งมีการทำเกลือ แต่ขาดการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ไปต่อยอดแล้ว หรือที่ วชช.ตราด ซึ่งมีผลไม้สมุนไพร มีเกษตรอินทรีย์ มีการแปรรูปพืชผลทางการเกษตรจำนวนมากแต่ขาดการเชื่อมโยงหรือขอรับรองมาตรฐาน อย. ก็จะประสานในเรื่องนี้ให้” นายสัมพันธ์ กล่าว

นอกจากนั้น จะมีการจัดทำฐานข้อมูลประสานความร่วมมือระหว่าง วชช.กับมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นเครือข่ายร่วมกันในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ซึ่ง วชช.มีข้อจำกัดในเรื่องนี้ รวมทั้งจะมีการพัฒนายกระดับคุณภาพของคณาจารย์ บุคลากรวิทยาลัยชุมชน และการเทียบโอนต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาของ วชช.สามารถต่อยอดได้มากขึ้น

นายสัมพันธ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของโครงสร้าง ข้อจำกัด กฎระเบียบ ข้อบังคับทาง อว.จะพยายามนำเสนอไปยังสภาวิทยาลัยชุมชน ซึ่งเป็นผู้ดูแลทั้งหมด เพราะหลายๆ เรื่อง อว.ได้มีการออกนโยบายแล้ว แต่อาจจะอยู่ในกระบวนการขับเคลื่อน ยังไปไม่ถึงเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ต่อจากนี้จะมีการผลักดัน จัดทำข้อมูล เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เห็นถึงองค์ความรู้ หรืองานวิจัยใน วชช. อันนำไปสู่การทำงานร่วมกันระหว่าง วชช. ซึ่งเข้าใจบริบท ทำงานกับชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ กับมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานอื่นๆ ในการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนร่วมกัน

“วชช.ตราด ตั้งมากกว่า 20 ปี ซึ่งถือเป็น วชช.นำร่องที่มีการรวบรวมความรู้ ถอดบทเรียนจากชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน และสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลที่มีวิทยาเขตจันทบุรี และเป็นสถาบันการศึกษาของ อว.ส่วนหน้า มีบทบาทมากมาย รวมทั้งการขับเคลื่อนโครงการ U2T ที่เห็นผลชัดเจนในพื้นที่ วชช.ตราด” ที่ปรึกษา รมว.อว. กล่าว

ดร.กรรณิการ์ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมของ วชช.ตราด แบ่งการทำงานออกเป็น 4 ส่วน คือ 1.การจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุปริญญา  ประกาศนียบัตร สัมฤทธิบัตร และหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาอาชีพ หรือหลักสูตรที่ชุมชน จ.ตราด ต้องการ 2. บริการวิชาการ ทั้งในส่วนของการสร้างความรู้แก่ชุมชน ซึ่งเป็นจุดยืนของ วชช.ตราดและชุมชน รวมทั้งต้องรองรับพัฒนาตามยุทธศาสตร์ จ.ตราด ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการท่องเที่ยว การแปรรูปเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย การค้าชายแดน การดูแลผู้สูงอายุผู้พิการต่างๆ

3.การทำนุบำรุงศิลปะ เราทำโดยการสืบสารอนุรักษ์ เรื่องการจักสาน อาหาร และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยถอดความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านมาสู่คนรุ่นหลัง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และ 4.มิติของอุดมศึกษา คือ การทำวิจัยเชิงชุมชน รูปแบบการวิจัยทำให้ได้ปัญหา ความต้องการ รูปแบบการพัฒนา โดยนำงานวิจัยมาเติมเต็ม

“การมาเยี่ยมชมของทีมที่ปรึกษาในครั้งนี้ จะทำให้เห็นถึงมิติการทำงานระหว่างวชช.ตราดกับชุมชนอย่างทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ การพัฒนาท่องเที่ยวโดยชุมชน วชช.ตราดทำมา 10 ปี มีมิติความก้าวหน้า ความร่วมมือ เการจัดการขยะ แปรรูปขยะ และแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ การสืบสานจักสาน การสืบค้นสมุนไพรเพื่อนำมาปรับให้เหมาะสมกับหลักโภชนาการ ไปดูการฝึกอบรมที่จะดูแลผู้สูงอายุ ติดบ้าน ติดเตียง ติดสังคม รองรับสังคมผู้สูงอายุ ไปดูในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และพาชมการสร้างความรู้โดยใช้ วชช.เป็นฐาน” ดร.กรรณิการ์ กล่าว

“วชช.ตราด” ได้รับการสนับสนุนจาก อว. และเครือข่ายจำนวนมาก เรื่องงบประมาณ การจัดทำหลักสูตรไม่มีปัญหา เพราะขณะนี้วชช.ตราดกำลังทำหลักสูตร 60 หน่วยกิต ให้จบภายใน 2 ปี และจัดทำธนาคารหน่วยกิต มีการปรับตัว วชช. และหลักสูตรให้ทันสมัยโดยดูความต้องการของชุมชนเป็นหลัก แต่ข้อจำกัดเป็นเรื่องความก้าวหน้าของครู วชช. ซึ่งยังไม่เห็นความมั่นคงทางอาชีพ ดังนั้น อยากให้ส่วนกลางมีความชัดเจนในเรื่องนี้ให้แก่ครู วชช. รวมถึงสนับสนุนให้มีการจัดทำหลักสูตรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมากขึ้น ผลิตองค์ความรู้อาชีพใหม่ๆ ให้แก่คนในชุมชน