เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ระบบประสาท และอาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีหมอลาออก ที่กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขไทยในขณะนี้ว่า “ปัญหาสุขภาพของคนไทยในขณะนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก แต่ละปีต้องใช้งบประมาณของประเทศ และค่าใช้จ่ายแต่ละครัวเรือนเป็นจำนวนมหาศาล ใช้บุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุขเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ภาระงานของบุคลากรที่มีจำนวนไม่เพียงพออยู่แล้วเพิ่มขึ้นอย่างมาก ก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย หนึ่งในนั้น คือ แพทย์ลาออก ซึ่งมีหลายสาเหตุ แต่ภาระงานที่หนัก เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ การพยายามแก้ปัญหาแพทย์ลาออกด้วยวิธีหนึ่ง อาจส่งผลกระทบไปยังอีกปัญหาหนึ่งก็ได้ ทางออกจึงต้องร่วมกันหลายๆ ฝ่ายในการหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่แค่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง”
ผู้สื่อข่าวถามว่า “สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน มองว่าการแก้ปัญหาควรเป็นวาระแห่งชาติ” นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า “เป็นเรื่องจริง เพราะตอนนี้เป็นปัญหาผลพวงจากหลายๆส่วน โดยหลักๆ จำนวนผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้น และความต้องการของผู้ป่วย ของสังคมมีความคาดหวังจากสาธารณสุขของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ กฎระเบียบต่างๆ ในการดูแลรักษาคนไข้ก็มีเกณฑ์จากหน่วยงานต่างๆ มาจับมากขึ้น กลายเป็นภาระงานของแพทย์ พยาบาล ทำให้ต้องทำงานเพิ่มที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรักษาโดยตรง ไม่ว่าจะงานความเสี่ยง งานคุณภาพ เป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นมา รวมไปถึงค่าตอบแทนต่างๆ ตรงนี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือของหลายกระทรวงฯ และการป้องกันโรคการส่งเสริมสุขภาพต้องใช้ความร่วมมือหลายส่วนจริงๆ จึงควรเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวงต้องมาร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
ถามต่อกรณีข้อเสนอทบทวนหลักสูตรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือหมออินเทิร์น “จาก 6+1 ปี เป็นเรียน 7 ปี จะช่วยเรื่องปัญหาของแพทย์อินเทิร์นได้หรือไม่” นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่น่าใช่ทางออก เพราะอดีตแพทย์ไทยก็เคยเรียน 7 ปีแบบนี้ แต่เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา พบว่า การให้แพทย์เรียน 5 ปี แล้วปีที่ 6 เป็นเอ็กซ์เทิร์น (Extern) ก็สามารถมีคุณสมบัติดูแลผู้ป่วยได้ดี และปัจจุบันนอกจากปีที่ 6 เป็นเอ็กซ์เทิร์นแล้ว ยังมีแพทย์อินเทิร์นในปีที่ 7 ซึ่งถือว่าเหมาะสมแล้ว เพียงแต่ว่า จะทำอย่างไรให้ช่วงชีวิตในการเป็นอินเทิร์น เป็นการเรียนรู้ เพราะวัตถุประสงค์ของอินเทิร์นคือ การได้ประสบการณ์เพิ่มเติม
“การดูแลแพทย์รุ่นน้องของสตาฟฟ์ ก็ต้องให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน หากเราปรับทัศนคติว่า เราเป็นรุ่นพี่ เป็นอาจารย์มาดูแลรุ่นน้อง ดูแลลูกศิษย์ ผมคิดว่าปัญหาก็น่าจะเบาบางลง ส่วนตัวหมออินเทิร์นเองก็ต้องเข้าใจว่า ช่วงนี้เป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ งานบางอย่างย่อมหนักเช่นกัน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การยกเลิกหลักสูตรหมออินเทิร์นและปรับเป็น 7 ปี หากทำจริงจะยิ่งขาดแคลนแพทย์ไป 1 ปี แล้วบทบาทตอนปีที่ 7 กับตอนอินเทิร์นก็แตกต่างกัน หากบังคับเรียนหลักสูตร 7 ปีก็จะเกิดปัญหาคนที่อยากเรียนหมอ คิดหนักว่า ใช้เวลาเรียนนานไปหรือไม่ เนื่องจากจบ 7 ปีเสร็จ ปีที่ 8 ก็ต้องเริ่มปฏิบัติงานชั้นปีที่ 1 หรือไม่ วนกลับมาเริ่มใหม่อีกครั้ง สุดท้ายก็จะเกิดปัญหาขาดแคลนแพทย์ใน รพ.ระดับจังหวัด อย่างหมอที่จบใหม่ เช่น 7 ปีจบก็ต้องออกไป รพ.ชุมชน หากคิดว่าไม่ต้องมีอินเทิร์นอีก แสดงว่า รพ.ระดับจังหวัดจะไม่มีแพทย์เพิ่มพูนทักษะที่ปฏิบัติงานอยู่เลย
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนแพทย์ที่เป็นมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลศูนย์ที่ผลิตแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข หากยกเลิกหลักสูตรปัจจุบัน ก็จะกลายเป็นไปเพิ่มภาระการเรียนการสอน เท่ากับไปเพิ่มภาระของสตาฟฟ์ ของโรงพยาบาลศูนย์ จากเวลาที่ต้องดูแลคนไข้ให้มากขึ้นกลับลดลง เวลาดูแลอินเทิร์นที่จบใหม่ก็ยิ่งน้อยลงไป จึงเป็นเรื่องที่ยาก แต่หากปรับหลักสูตรเฉพาะของโรงเรียนแพทย์อย่างเดียว และให้หลักสูตรระยะ 7 ปี อย่างชั้นปีที่ 7 ที่เรียนอยู่ในโรงเรียนแพทย์ก็แตกต่างจากโรงพยาบาลจังหวัดอยู่ดี ซึ่งทดแทนกันไม่ได้ บรรยากาศงาน รูปแบบการทำงานของโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลจังหวัดแตกต่างกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า “ข้อเสนอเร่งด่วนที่สามารถแก้ปัญหาภาระงานแพทย์อินเทิร์น ณ ขณะนี้ควรทำอย่างไร” นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า “มีข้อเสนอหลายทาง แต่ทางออกเฉพาะหน้าที่ทำได้ทันที คือ ขยายอายุแพทย์เกษียณให้เข้ามาช่วยทำงาน ลดภาระงานแพทย์อินเทิร์น โดยเน้นที่แพทย์เพิ่งเกษียณอายุราชการ อาจขยายไปในช่วงอายุ 63-65 ปี ส่วนแพทย์บริหารมองว่าไม่น่าจะได้ เพราะห่างจากวงการตรวจวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยไปนานแล้ว แต่แพทย์ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการ สามารถทำได้ โดยให้มาช่วยตรวจคนไข้แผนกผู้ป่วยนอก หรือ OPD จะลดภาระงานส่วนหนึ่งลง โดยกรณีนี้สามารถดำเนินการได้เลย ไม่ต้องปรับกฎระเบียบอะไรเพิ่มเติม เพราะสามารถจ้างต่อได้ทันที คล้ายๆจ้างพาร์ทไทม์ ไม่ต้องแก้กฎระเบียบใดๆ”
เมื่อถามว่า “เพราะอะไรถึงมองว่า ควรขยายอายุของแพทย์เกษียณออกไป 63-65 ปี” นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ช่วงอายุ 63-65 ปี น่าจะอยู่ในกรอบอายุที่ตนมองว่า ยังมีสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งแพทย์ยิ่งอายุมากก็มีประสบการณ์มาก อายุระหว่างนี้จะมีคุณสมบัติที่เพียบพร้อม ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ การควบคุมอารมณ์ต่างๆ จึงคิดว่าน่าจะเหมาะสม”
ส่วนคำถามว่า “การจ้างแพทย์เกษียณกลับมาทำงานจะมีประเด็นเรื่องค่าตอบแทนที่รัฐไม่สามารถจ่ายเท่าเอกชนหรือไม่” นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า “อัตราการจ้างของรัฐบาลคงไม่สามารถได้เท่าเอกชน แต่ตนมองว่า แพทย์ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการไปแล้วนั้น น่าจะยินดี และมีความสุขที่ได้มาช่วยตรงนี้ ส่วนค่าตอบแทนก็ขอให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม “
เมื่อถามว่า “มีข้อกังวลว่าแพทย์อาวุโส ยิ่งแพทย์เกษียณอายุราชการอาจมีปัญหาการสื่อสารกับหมอรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะอินเทิร์น” นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า “กรณีที่เสนอนั้น คือ ควรทำงานแยกกันไปเลย โดยแพทย์เกษียณอายุราชการน่าจะมาช่วยตรวจคนไข้โอพีดี ส่วนการอยู่เวรนั้น แพทย์หลังเกษียณแล้วไม่น่าจะอยู่ไหว แต่การมาตรวจโอพีดีแทนหมออินเทิร์น จะช่วยลดภาระได้ การทำงานไม่ได้คอนแทคโดยตรง หรือบางคนก็ยังสามารถมาเป็นที่ปรึกษาแพทย์โอพีดีได้ เพราะส่วนนี้ไม่ได้เคร่งเครียดเท่ากับแผนกฉุกเฉิน ซึ่งยังมองว่าจะสามารถทำงานด้วยกันได้ เพราะแพทย์อินเทิร์นก็เป็นรุ่นลูกของอาจารย์แพทย์ที่เกษียณแล้ว ซึ่งแนวทางตรงนี้เป็นแนวทางระยะสั้น ที่จะแก้ปัญหาได้เลย และทำได้ทันที”..
ขอบคุณภาพประกอบ : hfocus