จากกรณี น.ส.กิ๊ป ต้นน้ำเพชร อายุ 44 ปี ชาวบ้าน บ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้เจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นของพื้นที่ อ.แก่งกระจาน ได้เดินทางจากหมู่บ้านบางกลอย เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 66 เพื่อเข้ารับการรักษาอาการโรคไข้เลือดออก ที่ รพ. ของรัฐ แต่เนื่องด้วยความยากลำบากและระยะทางที่ห่างไกล ต้องใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง จึงมาถึง รพ. แต่เมื่อมาถึง รพ. เจ้าหน้าที่ได้เพียงแค่จ่ายยาแก้ปวด และให้กลับมาอีกครั้งในวันเวลาราชการ ซึ่งต่อมา น.ส.กิ๊ป ได้เดินทางมาตรวจรักษาอีกครั้ง ในวันที่ 22 พ.ค. 66 แต่มีอาการทรุดหนัก จนท้ายที่สุด ได้มีการส่งตัวไปยัง รพ. ใน จ.เพชรบุรี และเสียชีวิตในเวลาต่อมา นั้น
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. นายเกรียงไกร ชีช่วง ผู้ประสานงานเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก และเครือข่ายกะเหรี่ยง เพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ได้ปรึกษาหารือ น.ส.อุบลวรรณ ความสว่าง ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนราชบุรี มาตรา 50 (5) กรณี น.ส.กิ๊ป ต้นน้ำเพชร แกนนำนักต่อสู้ด้านสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ซึ่งได้เข้ารับการรักษาโรคไข้เลือดออกที่หน่วยบริการสุขภาพแล้วเสียชีวิต โดยทางเครือข่ายฯ ได้รับทราบสถานการณ์จากครอบครัว สามี บุตร และญาติพี่น้อง รวมไปถึงภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่ห่วงใยและกังวลต่อกรณีนี้ เนื่องจาก น.ส.กิ๊ป เป็นทั้งแกนนำ และเป็นหลักของครอบครัวในการดูแลลูกๆ อีก 7 คน ที่ยังอยู่ในวัยเยาว์
โดยทางเครือข่ายจึงได้ประสานลงพื้นที่ติดตามข้อมูล และยื่นเรื่องผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 5 ราชบุรี ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงาน และผู้อำนวยการกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับฟังการสะท้อนปัญหาของพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ ที่มีสถานการณ์ที่เปราะบางหลายมิติ โดยเฉพาะประเด็นสุขภาพ ที่ยังมีหลายกรณีที่ต้องหาแนวทางร่วมกันแก้ไข ไม่ให้เกิดกรณีที่อ่อนไหวเช่นกรณีล่าสุด
ทั้งนี้ การยื่นเรื่องขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้น ตามมาตรา 41 จากสาเหตุการเสียชีวิตจากการใช้บริการที่หน่วยบริการนั้น ทางผู้แทนของครอบครัว คือ น.ส.จันทร ต้นน้ำเพชร (บุตรคนโต) ได้ยื่นเรื่องผ่านทางเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง และเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้นายเกรียงไกร ชีช่วง ได้ประสานนำเอกสารไปส่งต่อหน่วยงานตามขั้นตอนต่อไป โดยอาศัยอำนาจ แลกเปลี่ยนปัญหาเป็นไปอย่างเข้าใจ เพื่อมีแนวทางแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีก ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ต้องให้ความสำคัญต่อทุกคน ทุกกลุ่มเครือข่ายประชากรเฉพาะ 9 ประเด็น.