เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงข้อมูลผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ทั้งก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 และหลังฉีด อาการเจ็บป่วยเป็นอย่างไร โดยระบุว่า “เปรียบเทียบความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยคนเดียวกันที่ไม่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด”

ผู้ป่วยหญิงไทยเป็นโรคเบาหวาน ไขมัน และหอบหืด เมื่อ 3 ปีก่อน ขณะนั้นอายุ 80 ปี เข้าโรงพยาบาลวันที่ 1 มกราคม 2563 ด้วยอาการ ไข้ ไอ มีเสมหะ ปวดศีรษะ เหนื่อย 1 สัปดาห์ ปีก่อนหน้านั้นไม่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วต่ำ เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาวทั้งสองข้าง

ส่งตรวจ RT-PCR พบไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A H1N1 เนื่องจากป่วยหนัก มีปอดอักเสบ 2 ข้าง จึงให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ Baloxavir 2 เม็ดทันที และตามด้วย Oseltamivir ต่ออีก 10 วัน ผู้ป่วยดีขึ้นช้าๆ ฝ้าขาวในปอดค่อยๆ ดีขึ้น

ในที่สุดระดับออกซิเจนกลับมาเป็นปกติ นอนรักษาในโรงพยาบาล 20 วัน ติดตามเอกซเรย์ปอดกลับมาเป็นปกติ

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 มีอาการอ่อนเพลีย ไอ มีไข้ ระคายคอ 2 วัน ผู้ป่วยได้รับวัคซีนป้องกันโควิดซิโนแวค 2 เข็ม และโมเดอร์นา 2 เข็ม ตรวจ ATK ให้ผลบวก ระดับออกซิเจนปกติ เอกซเรย์ปอดปกติ ได้ยาเรมเดซิเวียร์ทางเส้นเลือดสำหรับรักษาโรคโควิด ผู้ป่วยดีขึ้นเร็ว กลับบ้านได้ใน 3 วัน

“ผู้ป่วยรายนี้ซึ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง 608 ถึงแม้จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ป่วยน้อยมาก เพราะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 4 เข็ม เมื่อเปรียบเทียบกับตอนป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่เมื่อ 3 ปีก่อน ตอนนั้นป่วยหนักมาก เพราะก่อนหน้าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ไม่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่” ขอให้ทุกคนไปรับวัคซีนป้องกันทั้งไข้หวัดใหญ่และโรคโควิดปีละ 1 ครั้ง เพื่อลดความรุนแรงของโรค ลดการป่วยหนัก และเสียชีวิต..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC