สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ว่าตลอดระยะเวลา 100 ล้านปีที่ผ่านมา แผ่นเปลือกโลกจำนวนมากได้มุดตัวลงสู่ส่วนลึกของทะเลจีนใต้ ทว่าข้อจำกัดในการลงไปสังเกตการณ์บริเวณก้นทะเล ทำให้การทำความเข้าใจโครงสร้างส่วนลึกของทะเลแห่งนี้เป็นเรื่องยาก
ทีมวิจัยใช้ข้อมูลจากการทดลองแผ่นดินไหวแบบพาสซีฟ หรือการสำรวจที่มีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวจากสิ่งแวดล้อม โดยใช้เครื่องวัดแผ่นดินไหวใต้มหาสมุทรร่วมกับสถานีภาคพื้นดิน เพื่อหาโครงสร้างแผ่นดินไหวสามมิติที่มีความละเอียดสูง ของแอ่งย่อยทางตะวันตกเฉียงใต้ของทะเลจีนใต้
เนื้อหาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย ซึ่งได้รับการเผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ คอมมิวนิเคชันส์ ระบุว่านักวิจัยค้นพบพื้นที่ผิดปกติ ที่ความลึก 40-80 กิโลเมตรทางตอนใต้ของแอ่ง ซึ่งมีความเร็วแรงเฉือนของแผ่นดินไหวต่ำอย่างเห็นได้ชัด และความผิดปกตินี้ชัดเจนที่สุดที่ความลึกราว 50 กิโลเมตร
หลังการวิเคราะห์เชิงอุณหพลศาสตร์ และธรณีเคมีของหิน ทีมวิจัยได้รับหลักฐานทางธรณีวิทยาฟิสิกส์ว่าชั้นเนื้อโลกตอนบนในทะเลจีนใต้ทางตอนใต้มีน้ำค่อนข้างมาก โดยแสดงให้เห็นความไม่สมดุล ของโครงสร้างความเร็วคลื่นไหวสะเทือนในแนวเหนือ-ใต้ บริเวณส่วนลึกของทะเล
อนึ่ง การศึกษาชิ้นนี้มีนัยสำคัญ ต่อการเปิดเผยโครงสร้างส่วนลึกของแผ่นเปลือกโลกที่มุดตัว การกำเนิดของภูเขาไฟและแนวปะการังหลายแห่งในทะเลจีนใต้ รวมถึงวัฏจักรน้ำในเขตมุดตัวของโลก.
ข้อมูล-ภาพ : XINHUA