ในปัจจุบันค่าครองชีพของครัวเรือนค่อนข้างสูงและมีรายจ่ายมาก บางครัวเรือนต้องกู้หนี้ยืมสินนอกระบบเพื่อมาใช้จ่ายในครัวเรือน เหตุรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินตามมา โดยครัวเรือนยังคงมีความกังวลในเรื่องต่างๆอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟ รายได้ ดอกเบี้ยสูง หรือแม้กระทั่งพืชผลการเกษตรที่ถูกกระทบจากภัยธรรมชาติ

ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจดัชนีภาวะการครองชีพของคนไทยเมื่อเดือน ก.ค. 66 ที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 36.0 จาก 35.0 ในเดือน มิ.ย. 66 ขณะที่ดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้ายังคงทรงตัวที่ 38.8 จาก 38.6 ในเดือน มิ.ย. 66 โดยการเพิ่มขึ้นของดัชนีในเดือน ก.ค. เป็นผลจากการปรับเพิ่มขึ้น (กังวลลดลง) ในทุกองค์ประกอบของดัชนีฯ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีแรงหนุนจากการกลับมาฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ สถานการณ์จ้างงานในองค์กรของครัวเรือนในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ครัวเรือนส่วนใหญ่ระบุว่า ไม่มีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงใด ๆ ในองค์กร ขณะที่การชะลอการรับพนักงานใหม่ การลดเวลาการทำงานล่วงหน้า (OT) และการเลิกจ้าง มีสัดส่วนลดลงแสดงถึงทิศทางการปรับตัวดีขึ้นของตลาดแรงงานไทยจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ในเดือน ก.ค. 66 ครัวเรือนไทยมีระดับความกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้าและค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ลดลง แม้ว่าราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงผันผวนและปรับสูงขึ้นในเดือน ก.ค. 66 แต่ราคาพลังงานเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ในประเทศยังถูกตรึงไว้ที่ระดับเดิม อาทิ ราคาก๊าซหุงต้มยังอยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร และค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 66 อยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย และงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 66 มีแนวโน้มจะปรับลดลงที่ระดับ 4.45 บาทต่อหน่วย

ขณะที่ครัวเรือนมีความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้สินลดลงโดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ระบุว่า ยอดผ่อนบัตรเครดิตจากการซื้อสินค้าคงทนหมดลง อีกทั้ง มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ก็อาจช่วยคลายความกังวลของครัวเรือนที่มีต่อภาระหนี้สินได้ในระยะข้างหน้า

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เปิดข้อมูลความกังวลของครัวเรือนต่อการครองชีพในครึ่งปีหลัง 2566 มากที่สุด ได้แก่

1.ค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง เช่น ค่าไฟฟ้า เป็นต้น 74.9%

2.รายได้และการจ้างงาน 50.7%

3.ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น เช่น ก่อหนี้เพิ่ม อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูง เป็นต้น 38.1%

4.สุขภาพของตนเองและครอบครัว 37.8%

5.ความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาลอาจมีผลต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ 34.5%

6.การนำเงินออมออกมาใช้มากขึ้น 20.0%

7.ผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน เช่น ผลผลิตทางการเกษตรลดลง 11.1%

อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนในระยะต่อไปยังมีปัจจัยท้าทาย ทั้งปัจจัยภายนอกประเทศอย่างการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้ามากดดันภาคการส่งออกของไทย และการส่งผ่านต้นทุนทางการเงินจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังมีความไม่แน่นอนจากการส่งผ่านต้นทุนผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค สภาพอากาศที่แปรปรวนจากผลของปรากฏการณ์เอลนีโญ และความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่ยังคงอยู่ในสภาวะสุญญากาศ ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม.

(ข้อมูล : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ณ วันที่ 4 ส.ค. 66)