จากกรณีปัญหาที่มีประชาชนจำนวนมากได้แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับความทุกข์ยากลำบาก ในการต้องชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปี 2566 ที่ผ่านมา จนมีประชาชนบางรายเครียดจนประกาศจะฆ่าตัวตายเพราะฐานระบบภาษีที่สูงเกินไป จนแบกรับภาระไม่ไหวนั้น

วันที่ 29 ส.ค. ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสิทธิสัตว์ สภาผู้แทนราษฎร ได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัว สำหรับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 นั้น เป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นกฎหมายที่ทันสมัยเข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง เป็นการกระจายอำนาจใปสู่ท้องถิ่นในการหารายได้ในการพัฒนาตามสภาพบริบทของแต่ละพื้นที่ของตน เป็นการลดพื้นที่ในการถือครองในการเก็งกำไรในที่ดิน และเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์อื่นๆ ตามสภาพพอสมควร

แต่เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายก็ย่อมมีปัญหาอุปสรรค เช่น ประชาชนมองว่าอัตราภาษีก้าวหน้าในฐานภาษีที่สูงเกินควรขึ้นทุกปี เมื่อเทียบกับฐานรายได้และความสามารถในการชำระภาษีของประชาชนทั่วไป มีกลุ่มทุนหรือผู้มีกำลังทรัพย์ในการจ้างเอกชนเข้าบริหารจัดการที่ดินเพื่อเลี่ยงภาษี

นอกจากนั้นการให้บริการจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นรวมทั้งการใช้ดุลยพินิจต่างๆ การตีความและการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับประชาชน หรือแม้มีการเลือกและละเว้นการปฏิบัติต่อบุคคลใกล้ชิด ก็ยังเป็นหัวใจของการเลือกชำระภาษีของประชาชน เป็นต้น

แม้ว่าวัตถุประสงค์ของ พระราชบัญญัติภาษีและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 นั้นจะเป็นการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินและกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่เดิมที่ใช้บังคับมานานและใช้กฎหมายฉบับนี้แทน โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบการจัดเก็บภาษีดังกล่าว แต่ด้วยการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายใหม่ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บภาษี

ซึ่งแน่นอนศักยภาพความพร้อมของผู้นำท้องถิ่นในการบริหารจัดการย่อมแตกต่างกัน เช่น บางท้องถิ่นใช้หลักการที่มีความยืดหยุ่น ถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน เป็นกัลยาณมิตร ก็ย่อมได้ความพึงพอใจในการชำระภาษี แต่ถ้าท้องถิ่นไหน บังคับ เคร่งครัด ไม่ยึดหยุ่น มุ่งแต่หารายได้เข้าท้องถิ่นของตน การตีความและใช้กฎหมายก็เพื่อประโยชน์เฉพาะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ไม่คำถึงถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากหรือเหตุผลอื่นๆของประชาชน ก็จะทำให้มีการคัดค้าน อุทธรณ์ และจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อกันมากยิ่งขึ้น

ซึ่งถ้าในอนาคตถึงขนาดประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ รู้สึกว่าการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่เป็นธรรม การคิดภาษีที่ไม่ได้ยึดโยงถึงหลักหรือคำถึงความสามารถในการเสียภาษีของประชาชน ตามส่วนซึ่งประชาชนจะมีความสามารถเสียได้ เช่น มีการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับ ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ ไร้ความสามารถ หรือผู้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ ผู้ได้รับมรดก หรือผู้มีที่ดินที่ไม่มีกำลังความสามารถที่จะพัฒนาที่ดินด้วยเหตุอื่นๆ แต่ก็มีการเรียกเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าที่สูงเพิ่มขึ้นทุกปี

สำหรับการไม่ชำระภาษีตามกำหนด จะมีผลให้มีการเร่งรัดให้ชำระภาษี ซึ่งบางท้องถิ่น ก็มีการใช้วิธีในลักษณะเชิงอำนาจข่มขู่มากกว่าการแจ้งสิทธิให้ประชาชนทราบ ยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ประสงค์จะเสียภาษีเพิ่มขึ้น แม้ตามกฎหมายจะกำหนดไว้เช่นนั้นก็ตาม เช่น เมื่อท่านชำระภาษีช้า ก็จะมีหนังสือแจ้งเตือนมาว่า “ถ้าไม่ดำเนินการชำระภาษีตามกำหนดและจะต้องเสียเบี้ยปรับในอัตรา ร้อยละ 20 และปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 40 ของค่าภาษี หากพ้นกำหนด จะมีการดำเนินการตามกฎหมาย แจ้งระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิครอบครองในที่ดิน และจะยึดอายัดและขายทอดตลาดที่ดิน” นั้น คิดเล่นๆ ไม่มีเวลาไปเสียภาษีค้างภาษี 3,000 บาท หนึ่งเดือน มีหนังสือทวงแจ้งจะยึดอายัดและขายบ้านทอดตลาด ทั้งที่อยู่มาตลอดทั้งชีวิต

ดังนั้น การให้บริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงประชาชนด้วยการปฏิบัติอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน ด้วยการสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือ สร้างความชัดเจนแน่นอน เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเหมือนคนในครอบครัว ไม่มีการข่มขู่คุกคามบังคับ ไม่มีการเลือกหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อกัน จะทำให้การเก็บภาษี เกิดดุลยภาพกับประชาชนในท้องถิ่น เป็นการกระจายอำนาจ ที่จะทำให้ประชาชนมีความรู้สีกเป็นเจ้าของร่วมกับท้องถิ่นและประชาชนยินดีที่จะชำระภาษีเพื่อพัฒนาท้องถิ่นและประเทศชาติเพิ่มขึ้น

แต่ในทางกลับกันถ้าบางท้องถิ่นนั้น มีผู้นำองค์กรและเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์เฉพาะรายได้ โดยใช้อำนาจและกฎหมายเป็นเครื่องมือ ไม่พิจารณาถึงกำลังความสามารถ เหตุผลและเจตนาของประชาชนในท้องถิ่นของตนว่าจะสามารถจ่ายภาษีเช่นนั้นได้หรือไม่ “กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ ก็จะเป็นกับดักทางเวลา วงล้อทางประวัติศาสตร์ ที่ประชาชนจะมีการต่อต้าน ขัดแย้ง กับภาครัฐและท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น เพราะรู้สึกว่า ถูกกดขี่ด้วยกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรรม” อีกด้วย