นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาหัวข้อ อนาคตโลกการเงิน ว่า ขณะนี้ได้มีกระแสชักชวนการลงทุน หรือภัยการเงินดิจิทัลต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งประชาชนหลายคนยังมีความไม่เข้าใจ และอาจเกิดถูกหลอกลวงได้ จึงเตือนให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังสูงเป็นพิเศษ เช่น การถือครองลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลต้องระมัดระวังความเสี่ยง หรือมีคนส่งผ่านข้อความ และลิงก์ผ่านโซเชียลมีเดีย เอสเอ็มเอส เว็บไซต์ และอีเมล ต้องระวังในการกดลิงก์หรือกรอกข้อมูล เพราะอาจจะเกิดความสูญเสียข้อมูลส่วนตัวนำไปเป็นเครื่องมือให้มิจฉาชีพได้

สำหรับในโลกอนาคตระบบการเงินจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่ง ธปท.มีบทบาทและให้ความสำคัญในอนาคต ทั้งเรื่องข้อมูลดาต้า ทำอย่างไรให้การใช้ข้อมูลเต็มประสิทธิภาพ ใช้ได้สะดวก, การแข่งขันกว้างขึ้น ให้มีการแข่งขันจากผู้เล่นใหม่ๆ อาจไม่ใช่ธนาคารเข้ามาแข่งขันด้วย และสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ผู้เล่นปัจจุบันและผู้เล่นใหม่เข้ามาหลากหลายมากขึ้น ต่อยอดนวัตกรรมได้ เช่น โครงสร้างพื้นฐานสินทรัพย์ดิจิทัล (ดิจิทัลเคอเรนซี) หรือคริปโตเคอเรนซี

ทั้งนี้โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเคอเรนซี ทำให้ ธปท. ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงไว้ เพราะคนกำลังให้ความสนใจรองรับโลกอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นมีผู้เล่นหน้าใหม่อย่างชัดเจน และเป็นความท้าทายมากของหน่วยงานกำกับดูแล เพราะเทคโนโลยีที่นำมาใช้อยู่บนบล็อกเชนทำให้มีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามามาก

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ธปท.จึงใช้โครงการซีบีดีซีเข้ามา ซึ่งกำลังศึกษาใช้กับประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนในการใช้เงินดิจิทัล เพราะปัจจุบัน ธปท.ไม่ได้สนับสนุนการใช้คริปโตฯมาชำระเงินตามกฎหมาย เนื่องจากมีราคาผันผวน มีความเสี่ยงด้านไซเบอร์และอาจถูกใช้ในการฟอกเงิน รวมทั้งยังมีคนไม่เข้าใจความเสี่ยง และ ธปท.จะสนับสนุนให้เทคโนโลยีผ่านซีบีดีซี เปิดกว้างให้คนเข้าถึงง่ายต่อยอดไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ

“ในอนาคตข้างหน้า ระบบการเงินไทยจะเกิดผู้เล่นหน้าใหม่และไม่เหมือนเดิม จะมีผู้เล่นอุตสาหกรรมอื่น ไม่เกี่ยวกับการเงิน ข้ามช่องทาง ต่างเชื้อชาติ ผู้เล่นใหม่นี้อาจมีไม่มีตัวตน ธุรกิจที่เชื่อมต่อบนล็อกเชน และมีเรื่องดิจิทัลเข้าถึงแบบทุกที่ทุกเวลาทุกอุปกรณ์ รวมทั้งระบบการเงินในอนาคตยังมีเรื่องสีเขียว สิ่งแวดล้อม ที่ต้องคำนึงถึง เพราะธนาคารกลางต่างประเทศเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น”

ผยง ศรีวณิช

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ทบทวนแผน 3 ปีเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ขับเคลื่อนใหม่ สอดคล้องกับสถานการณ์เน้นเติบโตยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพ เสริมความเชื่อมั่นและยกระดับเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น พร้อมเพย์ ไทยแลนด์สมาร์ท ระบบยืนยันตัวตนดิจิทัล และผลักดันเป็นผู้นำภูมิภาค ซีแอลเอ็มวี ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมาก รวมทั้งธนาคารจะร่วมสร้างแพลตฟอร์มให้เข้าถึงการเงินมากขึ้น เช่น ไตรมาส 4 ปีนี้จะได้เห็นอี-อินวอยซิ่ง ให้เอสเอ็มอีเปลี่ยนการซื้อขายเป็นสภาพคล่องได้

อาทิตย์ นันทวิทยา

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในอนาคตจะมีทั้งการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ, ด้านเทคโนโลยี, พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล และแนวทางการกำกับ มองว่าอาจไม่หยุดยั้งเทคโนโลยี ในที่สุดต้องเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่หลากหลายรูปแบบเข้ามา ซึ่งการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์เป็นสิ่งท้าทายมาก ต้องมองธุรกิจใหม่เพิ่มเติมและที่สำคัญรูปแบบของแต่ละธนาคารพาณิชย์จะไม่เหมือนกัน

ปิติ ตันฑเกษม

นายปิติ ตันฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่ ธนาคารทหารไทยธนชาต กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยในอนาคตยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ ธปท. สมาคมธนาคารไทย จะทำให้ทุกภาคธุรกิจและประชาชนในอนาคตเติบโตมั่งคั่งยั่งยืน ซึ่งยังมีโจทย์คือ ในอนาคตจะทำอย่างไรให้เอสเอ็มอมีรายได้เพิ่ม ไม่ใช่แค่เรื่องไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่ทำอย่างไรให้เข้าถึงรายได้ที่มากขึ้นเพื่อให้ได้รับเงินทุนและมีเงินมาชำระหนี้คืน ดังนั้นธนาคารจะจับมือกันสร้างแพลตฟอร์มกลางเข้ามาช่วยเอสเอ็มอีมีโอกาสเข้าถึงแหล่งรายได้ใหม่เพิ่มเติม