ไม่เพียงเท่านี้รัฐบาลโดย “เศรษฐา ทวีสิน” ก็สร้างเซอร์ไพรส์แบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน กับนโยบายการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ แม้กลายเป็นว่านโยบายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กลายเป็น “บูมเมอแรง” ฟาดกลับไปที่นายกฯเศรษฐา แบบเต็ม ๆ เพราะมีหลายฝ่ายหลายหน่วยที่ไม่เห็นด้วย เพราะสร้างความยุ่งยากให้กับระบบ สร้างความยุ่งยากให้กับการใช้ชีวิตของใครหลายคน

ลดค่าไฟ2ครั้งติด

ประเดิมใน ครม. นัดแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ครม. ก็ไฟเขียวสารพัดมาตรการ ทั้งการลดค่าไฟฟ้างวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค. 66) จากหน่วยละ 4.45 บาท เหลือ 4.10 บาท เท่านั้นยังไม่พอ พอ ครม. นัดถัดมาเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ครม. ยังลดค่าไฟลงไปอีก 11 สตางค์ โดยให้เหลือเพียงหน่วยละ 3.99 บาท

นอกจากนี้ยังลดราคาน้ำมันดีเซล ให้ต่ำกว่าลิตรละ 30 บาท ด้วยการเฉือนเนื้อเดือนละ 5,000 ล้านบาท เพื่อลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงลิตรละ 2.50 บาท โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมาไปจนถึงสิ้นปี การจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่ได้หาเสียงเพื่อดึงศักยภาพของคนไทยออกมาเสริมรายได้ เพิ่มโอกาสให้กับคนไทยทุกคน รวมไปถึงการยกเว้นการตรวจลงตราเข้าไทยเป็นการชั่วคราว หรือวีซ่า-ฟรี ให้กับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถานเริ่ม 25 ก.ย. 66-29 ก.พ. 67

จ่อคลอดวงเงินพักหนี้

ไม่เพียงเท่านี้รัฐบาลยังเห็นชอบเรื่องของการพักหนี้เกษตรกร และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กเป็นเวลา 3 ปี โดยเรื่องนี้ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน เพราะต้องให้กระทรวงการคลังไปดำเนินการ ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องก่อนนำมาเสนอให้ ครม. พิจารณากันอีกรอบคาดการณ์กันว่าน่าจะเห็นรายละเอียดได้ในวันที่ 26 ก.ย.นี้ รวมไปถึงการจ่ายเงินข้าราชการจากเดือนละ 1 เป็น 2 รอบ มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 67 เป็นต้นไป จ่ายเงินเดือน 2 รอบ ไม่ต้องคอยสิ้นเดือนมีเงินแบ่งจ่ายออกมา ที่แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กลับมาทันที แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “นายกฯเศรษฐา” จะถอยยกเลิกไป แต่เสนอให้เป็นออปชัน หรือเป็นทางเลือกสำคัญให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อย

ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 ที่มีการรื้อ การปั้น การตกแต่งกันใหม่เพื่อให้ตอบสนองการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลให้ได้ โดย ครม. นัดที่ 2 เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 66 ก็รับทราบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 จากเดิมอยู่ที่ 3.35 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 3.48 ล้านล้านบาท เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาล โดยจะมีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมอีก 1.3 แสนล้านบาท หรือแม้แต่การโยกย้ายบรรดาผู้ว่าราชการจังหวัด การแต่งตั้งข้าราชการการเมืองที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษา เป็นเลขานุการ รมว.กระทรวงต่าง ๆ เพิ่มเติม รวมไปถึงการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงอย่างปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพลังงาน ที่สุดท้ายก็ไม่ได้มีการพลิกโผ

โชว์ตัวนายกฯป้ายแดง

หรือแม้แต่การเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78  หรือ UNGA78 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกจากเป็นงานแรกในต่างประเทศแล้ว ยังถือเป็นการเปิดตัวบนเวทีโลก ให้เป็นที่รู้จักกับผู้นำป้ายแดงของประเทศไทยอย่างเป็นทางการอีกต่างหาก ท่ามกลางความสงสัยในเรื่องของคณะที่ร่วมเดินทางทั้ง 50 ชีวิต ทั้งเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเดินทางในครั้งนี้ ทั้งเรื่องของผลงานในการปฏิบัติภารกิจนายกรัฐมนตรีของไทยในต่างประเทศเป็นครั้งแรก ว่าทั้งหลายทั้งปวง!! คุ้มค่าหรือไม่?

ลอตแรกแค่น้ำจิ้ม

ทั้งหมด…เป็นเพียงมาตรการลอตแรก ที่ออกมาเป็น “น้ำจิ้ม” เอาใจประชาชนคนไทย แต่ยังมีมาตรการอีกมากมาย ที่คนไทยทั้งประเทศยังคงตั้งหน้าตั้งตารอคอย เพื่อให้รัฐบาลจัดหนักจัดเต็มเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวไทยทุกคนให้ดีขึ้น โดยเฉพาะโครงการเรือธงอย่างเงินดิจิทัล ที่นายกฯเศรษฐา การันตีในหลายรอบหลายวงหลายเวที ว่าจะใช้ได้จริงภายในไตรมาสแรกของปีหน้า แน่นอน คนไทยที่มีอายุเกิน 16 ปี กว่า 56 ล้านคนได้ใช้แน่นอน ต่อให้ต้องทุ่มงบประมาณมหาศาลกว่า 5.6 แสนล้านบาทก็ตาม แต่ถือว่าช่วยกระตุกกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ไม่น้อยทีเดียว

เช่นเดียวกับมาตรการพักหนี้เกษตรกร ที่ธนาคารเพื่อการ เกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือ ธ.ก.ส. ต้องรับหน้าเสื่อไปดำเนินการ ที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือให้พักทั้งหมด 3 ปี ทั้งต้นทั้งดอก พร้อมมีมาตรการเพิ่มรายได้ มีมาตรการเสริมควบคู่กันไป เพื่อให้เกษตรกรหายใจหายคอได้สะดวกมากขึ้น แต่สิ่งที่ยังอุบไว้ก่อนคือมูลหนี้ จะให้พักกันตั้งแต่มูลหนี้เท่าใด เพราะที่เคยทำก็มีตั้งแต่ 1 แสนบาทในสมัยของรัฐบาลทักษิณ ต่อมาในสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนบาท ซึ่งก็ต้องรอดูในการประชุม ครม. อาทิตย์นี้ว่าจะเคาะออกมาที่เท่าใด

รอบต่อไปลดเบนซิน

หรือแม้แต่เรื่องของการลดค่าน้ำมัน เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า  แม้เรื่องของน้ำมันดีเซล จะเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นเรื่องของต้นทุนค่าขนส่ง ต้นทุนสินค้า ก็จริง แต่ในเรื่องของน้ำมันเบนซิน ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะเป็นต้นทุนของการใช้ชีวิตของประชาชนคนไทยไม่น้อย และที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินก็แพงขึ้นทุกวัน จึงทำให้กระแสเรียกร้องการลดน้ำมันเบนซินเกิดขึ้นไม่น้อย แต่ล่าสุด กระทรวงพลังงานเองได้มุ่งเป้าไปเพียงแค่กลุ่มคนเฉพาะ กลุ่มคนเปราะบางที่ใช้เบนซินในการทำมาหากิน หาเลี้ยงชีพ อย่าง กลุ่มไรเดอร์ กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง กลุ่มเกษตรกร หรือผู้ให้บริการรถสาธารณะ เป็นต้น รวมไปถึงการประกาศตรึงราคาก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี ให้ตรึงราคาขายปลีกไว้ก่อนที่ 423 บาทต่อ 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ไปจนถึงสิ้นปี

รื้อโครงสร้างพลังงาน

หลังจากนั้นก็จะเป็นเรื่องใหญ่ที่ท้าทายฝีมือรัฐบาลไม่น้อย โดยเฉพาะการ “รื้อโครงสร้างราคาพลังงาน” ซึ่งเป็นงานหินงานใหญ่ ที่สังคมต่างรู้กันดีอยู่แล้วว่า “ทำไม่ได้” เพราะติดนายทุนใหญ่ ไม่เช่นนั้นค่าไฟ ค่าน้ำมัน คงไม่พุ่งทะยานเหมือนทุกวันนี้ ต่อให้ยืนยันกันว่าเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ เพราะไทยต้องนำเข้าน้ำมันมาผลิตในประเทศเป็นจำนวนไม่น้อย ถ้าราคาน้ำมันราคาพลังงานในตลาดโลกแพงขึ้น ราคาในประเทศก็ต้องแพงขึ้นตามไปด้วย แต่!! บรรดาผู้ประกอบการต่างคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการที่ไทยยังอ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์ ก็ทำให้ต้นทุนการผลิตหน้าโรงกลั่นนั้นต้องแพงตามไปด้วยเช่นกัน

ส่วนการแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ กฟผ. คนใหม่ แทนคนเก่าที่เกษียณอายุราชการไปก่อนหน้านี้ ก็น่าจะเรียบร้อยได้ในไม่ช้า แต่อยู่ที่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากไม่ใช่โผเก่าที่ผ่านกระบวนการคัดเลือก เห็นชอบ มาเรียบร้อยแล้ว รอเพียง ครม. เห็นชอบและรับทราบ ถ้าเปลี่ยนแปลงได้ก็แสดงว่า “ทุนใหญ่” ใหญ่ไม่เบาทีเดียว

เร่งแก้ปากท้องใน 15 วัน

มาในเรื่องของ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” ที่เน้นหนักลดภาระค่าครองชีพช่วยชาวบ้าน โดยเฉพาะหลัง ครม. มีมติลดต้นทุนค่าไฟฟ้าและน้ำมัน ซึ่งมีผลให้ต้นทุนสินค้าลดลง จึงขีดเส้นกรมการค้าภายใน 15 วัน ให้ไปทำความเข้าใจ และจัดทำโครงสร้างราคาสินค้าใหม่ออกมา โดยเน้นรักษาสมดุลผู้ผลิต เกษตรกร ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ขณะที่เรื่องการส่งออกที่  เป็นหัวใจของจีดีพี ก็ให้เร่งขยายและผลักดันการส่งออก ให้เปลี่ยนจากตัวเลขติดลบเป็นบวก โดยรักษาเป้าหมายที่ 1-2% โดยให้พาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ทำงานเชิงรุกร่วมกัน เพื่อรักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่ รวมถึงการเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ค้างคาให้สำเร็จ และเริ่มเจรจาเอฟทีเอฉบับใหม่ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า ส่วนการดูแลสินค้าเกษตรนั้น นโยบายรับจำนำไม่ต้องพูดถึง ไม่นำกลับมาทำแน่นอน ขณะที่ประกันรายได้ก็มีข้อเสียต้องใช้เงินจำนวนมากเช่นกัน  ดังนั้นแนวทางดูแลราคาสินค้าเกษตร จะเน้นการดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาดในช่วงที่ผลผลิตออกมาก และผลักดันให้ราคาสูงขึ้นได้เป็นกลไกการค้าตามธรรมชาติ

ดัน ตปท.เที่ยวไทยเพิ่ม

ส่วนการหารายได้ที่สำคัญอีกด้าน คงหนีไม่พ้นเรื่องของการท่องเที่ยว ที่จะฟื้นให้กลับมา 100% เท่าปี 62 ก่อนโควิดระบาดโดยเร็ว ซึ่งนายกฯ เศรษฐา ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 67 ต้องนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศมากกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 35 ล้านคน และต้องทำรายได้รวมการท่องเที่ยวจากทั้งตลาดในและชาวต่างประเทศให้ได้ 4 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 3 ล้านล้านบาท แม้การประเดิมด้วยมาตรการวีซ่า-ฟรี ให้กับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่เรื่องของการท่องเที่ยวมีเรื่องเกี่ยวเนื่องมากมายสารพัด โดยเฉพาะความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว รวมไปถึงความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยเช่นกัน

ดิจิทัลเครื่องยนต์ใหม่

หรือแม้แต่เรื่องของการจัดระบบดิจิทัลในประเทศ ที่ต้องตามโลกให้ทันก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ โดยเจ้ากระทรวงดีอีเอส อย่าง “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ประกาศชัดเจนที่จะใช้เรื่องของดิจิทัล เป็นเครื่องยนต์สำคัญตัวที่ 5 ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยกำหนดนโยบายเร่งด่วนใน 4 ภารกิจ ทั้งการตั้ง “ศูนย์เตือนภัยไซเบอร์” แก้ปัญหาเชิงรุก ป้องกันเตือนภัยการหลอกลวงประชาชน  เพราะเป็นปัญหาใหญ่ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อ มิจฉาชีพออนไลน์ทุกวัน จึงต้องเร่งทำงานเชิงรุกกว่าเดิม การจัดตั้งชุมชนโดรนใจ โดยนำโดรนมาใช้เพื่อการเกษตรใน 500 ชุมชน 4 ล้านไร่ หรือแม้แต่เรื่อง “โกลเบิล ดิจิทัล ทาเล้นท์ วีซ่า” ดึงกลุ่มคนที่มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัล ในสาขาที่ขาดแคลนเข้ามาทำงานในไทย เพราะไทยต้องการแรงงานด้านนี้สูงถึงปีละ 1 แสนคน ขณะที่สถาบันการศึกษาผลิตได้เพียง 3 หมื่นคนเท่านั้น

เร่งเครื่องอุตสาหกรรมไทย

หันมาที่เรื่องราวของอุตสาหกรรม ที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการดึงดูดเงินเข้ามาลงทุน ทั้งจากนักลงทุนในประเทศ และนักลงทุนจากต่างประเทศ แม้รองนายกฯที่แบ่งกันดูแลแต่ละหน่วยงาน แต่     เรื่องของอุตสาหกรรมมีความสำคัญไม่น้อย อย่างเรื่องของอุตสาห กรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ต้องสานต่อนโยบายมาตรการอีวี 3.5 ทั้งในเรื่องส่วนลดราคานำเข้า การให้ค่ายรถตั้งโรงงานผลิตอีวี รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์กระตุ้นลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวี  ซึ่งปักธงไว้ไม่เกินสิ้นปีนี้แน่นอน หรือแม้แต่เรื่องของ “ฮาลาล” ที่มีโอกาสมากมายที่จะผลักดันให้ทำรายได้ให้กับประเทศ การแก้ไขปัญหาเรื่องของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เป็นต้น

เหล่านี้!! ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รอไม่ได้ ที่รัฐบาล “เศรษฐา 1”  ต้องเร่งมือทำทันที เพราะเป็นเรื่องที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนมานาน ที่สำคัญ…ยังถือเป็นจุดวัดใจสำคัญ ที่ประชาชนทั้งประเทศกำลังรอ !! กำลังลุ้น !! เพื่อให้เศรษฐกิจไทยก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคงต่อไป.

ทีมเศรษฐกิจ