เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ รอง ผวจ.สมุทรปราการ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซอย 21 ถนนกิ่งแก้ว ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดยใช้เวลานานร่วม 1 ชั่วโมง ก่อนเปิดเผยว่า มาตรวจสอบภาพรวมของสถานการณ์ ซึ่งภาพรวมขณะที่ถือว่าอยู่ในจุดที่เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เกือบทั้งหมด โดยหลังจากนี้จะมีการประชุมหารือที่ศูนย์อำนวยการใหญ่อีกครั้ง เพื่อประเมินว่าจะสามารถเปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่พักอาศัยในละแวกใกล้เคียงกลับเข้ามาพักอาศัยในพื้นที่ตามปกติได้เมื่อใด ซึ่งย้ำว่าทางเจ้าหน้าที่จะพยายามเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องขึ้นอยู่กับเกณฑ์ความปลอดภัยเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องมลพิษทางอากาศ น้ำ พื้นดิน ที่อาจมีสารเคมีปนเปื้อน ซึ่งในส่วนนี้ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้คำแนะนำรวมถึงวางแผนขั้นตอนการดำเนินการเพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด 

‘คพ.’จ่อเรียกเสียหายสิ่งแวดล้อม เหตุโรงงานพลาสติกบึ้ม!

ด้าน นายนภัทร กลมเกลี้ยง เจ้าหน้าที่กู้ภัย มูลนิธิร่วมกตัญญู หนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ในจุดเกิดเหตุ กล่าวว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ทั้งหมดแล้ว แต่เพื่อความปลอดภัยจึงนำเครื่องตรวจจับความร้อนมาช่วยในการค้นหาจุดที่ยังมีพลังงานความร้อนสะสมหลงเหลืออยู่ เพื่อทำการเฝ้าระวัง ซึ่ง ณ ตอนนี้เหลือเพียง 1 จุดเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการฉีดโฟมดับเพลิงบริเวณจุดดังกล่าวไว้ตลอดเวลา เพื่อควบคุมอุณหภูมิป้องกันไม่ให้เกิดไฟปะทุขึ้นมาอีก 

“แม้เปลวเพลิงจะสงบ แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะสารสไตรีนโมโนเมอร์ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในจุดเกิดเหตุนั้นเป็นสารเคมีที่ติดไฟได้ง่าย โดยสามารถจุดติดด้วยอุณหภูมิเพียงแค่ 36 องศา จึงจำเป็นต้องมีการฉีดโฟมดับเพลิงล่อเลี้ยงอุณหภูมิไว้ตลอดเวลา” นายนภัทร กล่าว

ขณะที่ นายวีระกิตติ์ รันทกิจธนวัชร์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ายังมีสารเคมีตกค้างอีกประมาณ 4-5 ถัง แต่ไม่รู้ว่าจะเหลือในปริมาณเท่าไน หลังจากนี้ทางผู้ประกอบการ หรือเจ้าของโรงงานก็จะต้องส่งสารเคมีที่ยังหลงเหลืออยู่ไปทำลายทั้งหมด ส่วนเศษซากภายในโรงงานทั้งหมด ก็จะต้องมีการแจ้งดำเนินการตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เนื่องจากมีการปนเปื้อน ที่ผ่านมาทางโรงงานมีการประเมินความเสี่ยง ทุกๆ5 ปีอยู่แล้ว และโรงงานแห่งนี้มีการขออนุญาตก่อตั้งตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งในขณะนั้น บริเวณนี้ยังเป็นพื้นที่ว่างเปล่า แต่เมื่อบ้านเมืองมีความเจริญขึ้น ก็จะต้องปรับเปลี่ยนผังและแก้ไขปัญหาต่อไป

นายวีระกิตติ์ กล่าวต่อว่า สำหรับในอนาคตถือเป็นเรื่องราวที่ดีที่ทุกหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะคุยกันเกี่ยวกับ การจัดสัดส่วนในพื้นที่ต่างๆโดยแยกระหว่างพื้นที่โรงงานและพื้นที่ชุมชน ส่วนอนาคตสามารถสร้างโรงงานได้อีกหรือไม่นั้น ตามสิทธิ์ใบอนุญาตยังคงอยู่ แต่มาตรการกฎเกณฑ์ และกฎหมายใหม่ที่ออกมา ก็อาจจะต้องมีการทบทวนอีกครั้ง.