นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงาน บขส. ในงบประมาณปี 66 (1 ต.ค. 65-30 ก.ย. 66) มีรายได้อยู่ที่ 1,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 600 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีงบฯ 65 รายได้อยู่ที่ 1,300 ล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลมีการเปิดประเทศ ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ประชาชนใช้ชีวิตปกติและมีการเดินทางมากขึ้น ส่วนจำนวนผู้โดยสารในปี 66 พบว่าใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 35,000-36,000 คนต่อวัน จากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 63-65) ซึ่งเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 มีผู้โดยสารใช้บริการแค่ 8,000-13,000 คนต่อวัน อย่างไรก็ตามคาดว่าภายในปี 67 จะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 40,000-45,000 คนต่อวัน ส่งผลให้ บขส. มีรายได้เพิ่มขึ้น 10-30%
ขณะเดียวกัน บขส. ยังอยู่ในสภาวะที่ขาดทุนสุทธิประมาณ 219 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงปี 62 บขส. มีรถให้บริการประมาณ 800 คัน มีผู้โดยสารใช้บริการ 80,000 คนต่อวัน ปัจจุบันพบว่ามีผู้โดยสารใช้บริการ 35,000-36,000 คนต่อวัน บขส. พยายามประคองตัวลดจำนวนรถที่ให้บริการด้วยการคืนสัญญาเช่ารถ เพื่อลดค่าใช้จ่ายจำนวนมาก แต่ยังบริหารจัดการเดินรถ โดยการให้บริการในเส้นทางหลักตามเดิม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ
นายสรพงศ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ บขส. ยังเจอต้นทุนพลังงานเชื้อเพลิงรถโดยสารที่มีราคาสูง แม้บางช่วงจะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ปรับลดราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ทำให้ บขส. ยังอยู่ในสภาวะต้องลดรายจ่ายและหามาตรการเพิ่มรายได้ เมื่อปี 65 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ บขส. ดำเนินการธุรกิจขนส่งพัสดุได้ เพื่อหารายได้เพิ่มนอกเหนือจากการขนส่งผู้โดยสาร บขส. จึงร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการขนส่งสินค้าในเส้นทางที่ให้บริการอยู่แล้ว โดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จะรับพัสดุจาก บขส. เพื่อไปส่งผู้รับถึงที่หมายปลายทาง ซึ่งจะนำร่องให้บริการใน 2 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ชลบุรี และ จ.สุพรรณบุรี ทำให้ปัจจุบัน บขส. มีรายได้จากการขนส่งสินค้ากว่า 200 ล้านบาท โดย บขส. เร่งรัดการปรับปรุงให้บริการพัสดุเพิ่มขึ้น คาดว่า บขส. จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 200 ล้านบาท ภายในปี 67-68
นอกจากนี้ มีแผนให้เอกชนร่วมลงทุนการพัฒนาที่ดินในกรรมสิทธิ์ของ บขส. ที่มีศักยภาพและนำมาพัฒนาเพื่อให้เกิดรายได้และกำไรได้ จำนวน 4 แห่ง พื้นที่ขนาดรวม 30 ไร่ ประกอบด้วย 1.ที่ดินบริเวณแยกไฟฉาย พื้นที่ 3 ไร่ 2.สถานีเดินรถชลบุรี จ.ชลบุรี พื้นที่ 5 ไร่ 3.สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) พื้นที่ 15 ไร่ และ 4.สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย) พื้นที่ 7 ไร่
นายสรพงศ์ กล่าวอีกว่า ใน 65 บขส. เปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อประเมินความสนใจจากกลุ่มนักลงทุน (Market Sounding) สำหรับการให้เอกชนลงทุนพัฒนาที่ดิน 2 แห่ง ได้แก่ พื้นที่แยกไฟฉาย และย่านชลบุรี จากนั้นเชิญชวนนักลงทุนซื้อเอกสารร่วมพัฒนาที่ดินไปแล้ว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.-21 เม.ย. 66 แต่ไม่มีนักลงทุนสนใจ เนื่องจากมีข้อจำกัดการเปิดให้เอกชนเช่าสัญญาเพียง 30 ปี รวมทั้งค่าเช่าที่ บขส. กำหนดค่อนข้างสูง ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) เพื่อดึงดูดเอกชนลงทุนมากขึ้น ซึ่ง บขส. เปิดโอกาสเรื่องการยกเว้นเรียกเก็บค่าหลักประกันการซื้อเอกสารประกวดราคาให้บริษัทกลุ่มย่อยมีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ร่วมลงทุน รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อประเมินความสนใจจากกลุ่มนักลงทุน พื้นที่แยกไฟฉายและย่านชลบุรี ครั้งที่ 2 กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอได้ถึงเดือน ก.พ. 67 หลังจากนั้นจะเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯ และบอร์ด บขส. พิจารณาต่อไป
ส่วนความคืบหน้าการเปิดประมูลพื้นที่สถานีขนส่งปิ่นเกล้าอยู่ระหว่างประกาศร่างทีโออาร์ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว ยังติดปัญหาการเป็นสถานีเดินรถรับ-ส่งผู้โดยสาร เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นจุดจอดรถตู้ขนาดเล็กไม่ตอบโจทย์แก่ผู้โดยสาร ทำให้การจราจรติดขัด เบื้องต้น บขส. กำลังสำรวจความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อขอย้ายพื้นที่ของสถานี ขณะที่พื้นที่สถานีขนส่งเอกมัย อยู่ระหว่างเสนอบอร์ด บขส. ชุดใหม่พิจารณา เนื่องจากตนจะหมดวาระการเป็นประธานบอร์ด บขส. ภายในเดือน ม.ค. 67 อย่างไรก็ตาม ถ้า บขส. ดำเนินการให้เอกชนร่วมลงทุนการพัฒนาที่ดินดังกล่าว ได้ส่งผลให้ บขส. มีรายได้ 500 ล้านบาท