นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน ก.ย. 2566 มีมูลค่า 1,286.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 27.29% กลับมาฟื้นตัว หลังจากขยายตัวติดลบในเดือน ก.ค. และ ส.ค. ที่ผ่านมา หากรวมทองคำ มีมูลค่า 2,157.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 40.17% เพราะมีการส่งออกทองคำไปเก็งกำไร จากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น และรวม 9 เดือน ของปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) การส่งออก ไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 6,643.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 9.09% และรวมทองคำ มูลค่า 11,128.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 10.40%
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ พบว่า มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยฮ่องกง เพิ่ม 204.32% อิตาลี เพิ่ม 40.08% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 10.59% ส่วนสหรัฐ ลด 12.95% อินเดีย ลด 56.78% เยอรมนี ลด 18.36% สหราชอาณาจักร ลด 5.57% สวิตเซอร์แลนด์ ลด 5.89% เบลเยียม ลด 5.30%
ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญ มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 26.81% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 0.89% พลอยก้อน เพิ่ม 21.29% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 84.35% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 106.90% อัญมณีสงเคราะห์ เพิ่ม 53.33% ส่วนเพชรก้อน ลด 11.66% เพชรเจียระไน ลด 26.35% เครื่องประดับเงิน ลด 12.61% เครื่องประดับเทียม ลด 6.15% และทองคำ ลด 29.15%
นายสุเมธ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกมีปัจจัยสนับสนุนจากการเข้าสู่เทศกาลจับจ่ายใช้สอยท้ายปี ทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ค่าเงินบาทที่อ่อนค่ากว่าคู่แข่งทางการค้าหลายประเทศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทย ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐ และประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น บวกกับการแนวทางเปิดตลาดใหม่ รักษาตลาดเดิม และฟื้นฟูตลาดเก่า มาปรับใช้ในกลยุทธ์การตลาดสร้างแนวทางการเข้าสู่แต่ละตลาดได้อย่างเหมาะสม ทำให้การส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น และสินค้าไทย มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจสอดรับกับกฎระเบียบการค้าใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น BCG Carbon Credit หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังคงซบเซาในหลายประเทศ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2566 อยู่ที่ 3% และปรับลดคาดการณ์การเติบโตในปีหน้าลงเหลือ 2.9% จากการที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มอ่อนแอลง โดยเฉพาะสองประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจทั้งสหรัฐ และจีน ล้วนประสบปัญหาทางเศรษฐกิจยืดเยื้อและมีปัญหาขัดแย้งระหว่างกัน ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อแม้ทรงตัว แต่ยังอยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนทางการเงิน และยังมีปัญหาการสู้รบระหว่างอิสราเอสและฮามาส หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายแห่ง ที่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งล้วนแต่มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ