ปัจจุบันเทคโนโลยีถือว่าจำเป็นกับการทำงานทุกสาขาอาชีพ ยิ่งสามารถหยิบประโยชน์มาใช้ได้มากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสเพิ่มประสิทธิภาพได้มากขึ้นเท่านั้น ดังเช่นโครงการ Smart Safety Zone 4.0 (สมาร์ท เซฟตี้ โซน) ตามนโยบายของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ที่มีเป้าหมายพัฒนารูปแบบการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก ด้วยการสร้างพื้นที่ปลอดภัย จัดระบบความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยใช้นวัตกรรมและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางตามแนวคิด “เมืองอัจฉริยะ”

หนึ่งความตั้งใจที่จะสะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากการตั้งคำถามว่า “มีซอยไหนสักซอยไหม ที่ผู้หญิงสามารถเดินจากปากซอยเข้าบ้านได้ตอนสามสี่ทุ่มหรือหลังจากนั้น โดยไม่รู้สึกกลัวอะไร” คำกล่าวของ ผบ.ตร. ถึงวันนี้ สมาร์ท เซฟตี้ โซน มีพื้นที่นำร่องแล้ว 15 พื้นที่ ประกอบด้วย สน.ลุมพินี, สน.ห้วยขวาง, สน.ภาษีเจริญ, สภ.ปากเกร็ด, สภ.เมืองสมุทรปราการ, สภ.ปากช่อง สภ.เมืองราชบุรี, สภ.เมืองพัทยา, สภ.เมืองภูเก็ต, สภ.หาดใหญ่, สภ.เมืองปราจีนบุรี, สภ.เมืองเชียงใหม่, สภ.เมืองอุดรธานี, สภ.เมืองพิษณุโลก และ สภ.เมืองระยอง
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ 9) ตร. เผยถึงการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าและกำชับการเร่งรัด 15 สถานีนำร่องใช้หลักการสมาร์ท เซฟตี้ โซนให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายของ ผบ.ตร. เพราะการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก เป็นการทำงานที่ประหยัดงบประมาณ และตรงความต้องการประชาชน เมื่อเหตุไม่เกิด ความเสียหายก็ไม่เกิด ปัญหาสังคมก็จะลดลง ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด ประชาชน และองค์กรเอกชน ทั้งนี้ หลังวันที่ 1 ต.ค.นี้ ผบ.ตร.จะขยายโครงการเพิ่มพื้นที่เป็น 1 จังหวัด 1 สมาร์ท เซฟตี้โซน ดึงประชาชนมีส่วนร่วมให้มากขึ้น
สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้โครงการดังกล่าว อาทิ 1.การติดตั้งกล้องวิเคราะห์ทะเบียนรถ 2.จัดตั้งศูนย์ควบคุมสั่งการ (CCOC ) ซึ่งเชื่อมกล้องวงจรปิดของภาครัฐ และเอกชน เข้ามายังห้องปฏิบัติการโดยใช้ระบบ AI วิเคราะห์ประมวลผล 3.ใช้ Police 4.0 หรือตู้แดง 4.0 4.ปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงเกิดอาชญากรรม เช่น เพิ่มแสงสว่างในเส้นทางเปลี่ยว หรือเพิ่มกล้องวงจรปิด

ทั้งนี้ มีพื้นที่นำร่องที่คืบหน้าแล้ว เช่น สน.ภาษีเจริญ มีการใช้นวัตกรรมป้องกันอาชญากรรม ทั้งแอพพลิชั่น Police 4.0, ศูนย์ CCOC , กล้องวงจรปิด 111 จุด 216 ตัว, จุดขอความช่วยเหลือพร้อมลำโพงกระจายเสียง 6 จุด, มีบัญชีกลุ่มไลน์, ปรับสภาพแวดล้อม, ใช้แอพ Police I lert u และแอพ crime online ส่วน สน.ห้วยขวาง มีแอพ Police 4.0, ศูนย์ CCOC, กล้องวิเคราะห์แผ่นป้ายทะเบียน 8 จุด 26 ตัว, กล้องจดจำใบหน้า 8 จุด 22 ตัว และกล้องสังเกตการณ์มุมสูง 1 จุด, จุดขอความช่วยเหลือ 4 จุด ลำโพงกระจายเสียง (ติดแยก) 2 จุด , กลุ่มไลน์ และการปรับสภาพแวดล้อม
ขณะที่ต่างจังหวัด สภ.ปากช่อง มีแอพฯ Police 4.0, ศูนย์ CCOC, กล้องวงจรปิดในพื้นที่ 218 จุด 256 ตัว, ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินพร้อมลำโพง 2 จุด, กลุ่มไลน์, ปรับปรุงสภาพแวดล้อม คุมเข้มพื้นที่เสี่ยงและแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่น, แอพฯ Police I lert u แอพ crime online, อากาศยานไร้คนขับ, เพจเฟซบุ๊ก สภ.ปากช่อง สมาร์ท เซฟตี้ โซน, รถกอล์ฟไฟฟ้า และรถยนต์สายตรวจ สภ.เมืองราชบุรี มีรถตรวจการไฟฟ้าขนาดเล็ก, อากาศยานไร้คนขับ, ศูนย์ CCOC, Police I lert u, crime online ระบบติดตามการปฏิบัติงานสายตรวจ แบบ GPS Real Time/Life 360 ระบบกล้อง AI สภ.เมืองสมุทรปราการ ใช้แอพฯ Police 4.0 แอพฯ Police I lert u, ศูนย์ CCOC, กล้องวงจรปิดในพื้นที่ 240 ตัว, เสารับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 7 จุด, ตู้รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 5 ตู้, อากาศยานไร้คนขับ, บัญชีกลุ่มไลน์, สายตรวจจักรยาน, การส่งข้อความ SMS
นอกเหนือเทคโนโลยีจุดเด่นสมาร์ท เซฟตี้ โซน คือความร่วมมือของหน่วยงาน ในพื้นที่กทม. มีตัวอย่างความร่วมมือจากสำนักงานเขตที่เริ่มเห็นรูปธรรม เช่น เขตห้วยขวาง กับ สน.ห้วยขวาง นายอนุชิต พิพิธกุล ผอ.เขตห้วยขวาง ระบุ การปรับในส่วนของเขตที่ดำเนินการแล้วเช่น จัดสายตรวจเทศกิจ ตรวจตราตลอด 24 ชม.บริเวณ ที่เปลี่ยว ที่รกร้าง ใต้สะพานลอย หรือหลังป้ายรถประจำทาง หากพบไฟฟ้าส่องสว่างชำรุด จะแจ้งแก้ไขด่วน รวมถึงการตรวจสอบความเรียบร้อยพื้นผิวจราจร ทางเท้า เพื่อป้องกันอันตราย นอกจากนี้ยังได้สร้างเครือข่ายภาคประชาชน คอยสอดส่องดูแล เช่น วินจยย.รับจ้าง แจ้งข้อมูลข่าวสาร รวมถึงตำรวจหากพบเห็นสามารถแจ้งข่าวสนับสนุนได้ทันที

ส่วนกล้องวงจรปิดเฉพาะที่อยู่ในความรับผิดชอบกทม.ในเขตสมาร์ท เซฟตี้ โซน ห้วยขวางมี 35 ตัว ใช้การได้ทุกตัว และหากชำรุดก็จะเร่งซ่อมแซม ส่วนการพัฒนาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย เช่น ป้ายรถประจำทาง ทางเท้า ผิวการจราจร มีโปรแกรมทำความสะอาดสม่ำเสมอ และหาก สน.ห้วยขวาง และเขตเห็นสมควรกำหนดแผนการพัฒนาเพิ่มเติมก็สามารถร่วมกันเดินหน้าได้.