รศ.นพ. บัญชา ศันสนีย์วิทยกุล แพทย์ผู้ชำนาญการอายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลรามคำแหง แผนกหัวใจเต้นผิดจังหวะ ระบุว่า ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีของการสื่อสารและโทรคมนาคม และการให้บริการอินเทอร์เน็ตที่มีอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการติดตามผู้ป่วยโรคหัวใจแบบทางไกล หรือที่เรียกกันว่า “Tele Heart Rhythm Monitoring” ด้วยระบบเทคโนโลยีนี้ทำให้ทางทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถที่จะตรวจจับการเต้นของหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยช่วยลดความจำเป็นในการเดินทางมาโรงพยาบาลของผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก

หัวใจสำคัญในการดูแลรักษา “โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ” ก็คือ การได้ข้อมูลคลื่นไฟฟ้าการเต้นของหัวใจในขณะที่เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อที่จะสามารถแยกได้ว่าอาการใจสั่นนั้นใช่ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ และถ้าใช่ จะเป็นการเต้นผิดจังหวะชนิดใด

ตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะต้องเดินทางมาโรงพยาบาล เพื่อทำการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจในขณะที่มีอาการ แต่ผู้ป่วยบางรายนั้นไม่สามารถที่จะเดินทางมาโรงพยาบาลไหว เนื่องจากมีอาการเยอะ ในผู้ป่วยหลายคนที่เดินทางมาถึงอาการก็หายเป็นปกติแล้ว จึงไม่สามารถตรวจคลื่นไฟฟ้าขณะมีอาการได้ ในบางรายแพทย์จึงได้ทำการติดตั้งเครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจตลอดเวลา 24-48 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยก็อาจไม่แสดงอาการในระยะเวลานั้น

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะหมดไปด้วยอุปกรณ์เพียงตัวเดียวเท่านั้นคือ “ซีเมท” เครื่องวัดคลื่นหัวใจไฟฟ้าส่วนบุคคล ขนาดพกพา ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งจะมีหน้าตาคล้ายกับโทรศัพท์มือถือแต่มีขนาดเล็กกว่า เมื่อคนไข้มีอาการสามารถนำเครื่องนี้มาทาบที่หน้าอกแล้วกดปุ่มบันทึก เครื่องนี้ก็จะบันทึกการเต้นของหัวใจเราไว้แล้วส่งข้อมูลขึ้นสู่ Cloud หรือ Server ผ่านทางอินเทอร์เน็ต และระบบจะทำการแยกว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะของคนไข้เป็นชนิดที่รุนแรงหรือไม่ แล้วดำเนินการส่งข้อมูลให้ทางแพทย์ทำการวิเคราะห์ข้อมูลและแจ้งผลให้ผู้ป่วยเพื่อทำการรักษาในขั้นตอนต่อไป

สำหรับคนไข้อีกกลุ่มที่เหมาะสำหรับเครื่อง Tele Heart Rhythm Monitoring คือผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่เรียกว่า Atrial Fibrillation หรือ AF หรือหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว ที่มักพบในกลุ่มคนสูงอายุ

ความก้าวหน้าที่มากขึ้นในทุกวันนี้ คือการใช้ระบบ Tele Heart Rhythm Monitoring ที่ตรวจวัดทุกวัน วันละ 2 ครั้ง ข้อมูลจะถูกส่งมายังแพทย์ หากพบความผิดปกติจะได้รักษาทันท่วงทีก่อนที่จะเป็นอัมพาต

ดังนั้น การดูแลตัวเองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ตรวจสอบสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยเทคโนโลยี “Tele Heart Rhythm Monitoring” ที่สามารถแสดงข้อมูลที่สามารถนำไปประกอบการวิเคราะห์ทางการแพทย์เบื้องต้น และยังมีระบบเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลที่สามารถให้คุณส่งกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจให้แพทย์ พร้อมคำแนะนำเบื้องต้นตามหลักการแพทย์ เครื่องวัดไฟฟ้าหัวใจส่วนบุคคลจึงเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมดูแลสุขภาพหัวใจที่เหมาะสำหรับผู้ที่รักสุขภาพได้ดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างดีที่สุด..