นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ได้สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 3 ประจำปี 66 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 53.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 54.1 ของไตรมาสที่ผ่านมา และยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น ซึ่งปัจจัยด้านผลประกอบการ ด้านปริมาณการผลิตฯ ด้านการจ้างงาน ด้านคำสั่งซื้อฯ และด้านการลงทุน ปรับตัวลดลง ขณะที่ปัจจัยด้านต้นทุน ผู้ประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมจะพบว่า เกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ สูงกว่าระดับ 50 ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อยู่ที่ระดับ 51.3 กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 56.9 กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 53 และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ระดับ 52.4 ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวที่มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่ำกว่าระดับ 50 โดยอยู่ที่ระดับ 47.6 ในไตรมาสนี้

นายณัฐพล กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบายและความไม่แน่นอนทางการเมือง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายบางประการของบริษัท ที่ส่งผลให้ปริมาณความต้องการอุปกรณ์ดิจิทัลลดลง นอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว กลับกัน อุปสงค์ภายในประเทศได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น
“ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐปรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยผลักดันให้การกำกับเกิดความชัดเจน และดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดระบบนิเวศ ที่เอื้อให้ผู้ประกอบการในประเทศสามารถแข่งขันได้ กระตุ้นการใช้จ่ายด้านดิจิทัลของภาครัฐผ่านบัญชีบริการดิจิทัล รวมถึงการเร่งออกมาตรการดึงดูดกำลังคนด้านดิจิทัลจากต่างประเทศ และเร่งพัฒนากำลังคนในประเทศ” นายณัฐพล กล่าว