จากกรณีเจ้าหน้าที่การเงินของวัดแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสุพรรณบุรี ว่าวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่วัดแห่งหนึ่งได้มีการทอดกฐินสามัคคี ได้ยอดเงินทำบุญกว่า 7 แสนบาท แต่เจ้าอาวาสซึ่งเป็นเจ้าคณะตำบลด้วย ไม่ได้นำเงินไปเข้าบัญชีของวัด ก่อนจะหายตัวไป หลังจากนั้นก็ไม่สามารถติดต่อเจ้าอาวาสดังกล่าวได้ ขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านผู้เสียหายกว่า 30 ราย ที่ให้เจ้าอาวาสยืมเงินส่วนตัวเพื่อทะนุบำรุงวัด รวมแล้วประมาณ 4 ล้านบาท เริ่มทยอยออกมาให้รายละเอียด ต่อมา นายจิตรติ รามเนตร รักษาการนายอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ได้ประชุมชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งชาวบ้านที่ให้เจ้าอาวาสยืมเงินไปพัฒนาวัด ไปเมื่อช่วงเย็นวันที่ 20 พ.ย. และมอบหมายให้ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับพระเลขาฯ ดำเนินการรับแจ้งรวบรวมข้อมูลความเสียหาย โดยทำบัญชีระบุรายชื่อ ที่อยู่ และจำนวนเงินที่ได้ให้กู้ยืม พร้อมพยานหลักฐานการกู้ยืม (ถ้ามี) ก่อนจะนัดหมายประชุมกันอีกครั้งที่วัด ในวันที่ 30 พ.ย. 66 เวลา 13.30 น. โดยจะเชิญหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องของระเบียบกฎหมาย เช่น อัยการ สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ มาคุยให้คำแนะนำกับชาวบ้านผู้เสียหาย

ต่อมาเจ้าอาวาส ซึ่งมีตำแหน่งเจ้าคณะตำบลรูปดังกล่าว ได้นำเอกสารรายรับ-รายจ่ายของวัด เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสุพรรณบุรี เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ โดยจะชี้แจงกับชาวบ้านด้วยตัวเอง ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ฉาวโฉ่! แจ้งจับ ‘เจ้าคณะตำบล’ วัดดังสุพรรณบุรี หอบเงินกฐิน-เงินทะนุบำรุงวัดกว่า 4 ล้านหนี

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 พ.ย. พระปลัดธนิตย์ จนทิโก เจ้าอาวาสวัดบางปลาหมอ และเป็นเจ้าคณะตำบลดอนกำยาน อ.เมืองสุพรรณบุรี ได้ออกมาพบชาวบ้านที่ศาลาการเปรียญวัดบางปลาม้า เพื่อชี้แจงกรณีเงินกฐินกว่า 7 แสนบาท โดยมีพระครูศรีปริยัตยานุศาสก์ เจ้าคณะอำเภอเมืองสุพรรณบุรี นายจิตรติ รามเนตร รักษาการนายอำเภอเมืองสุพรรณบุรี น.ส.พัสวี บุญสิทธิ์ ปลัดอำเภอเมืองสุพรรณบุรี พ.ต.ต.บุญนำ โสมอินทร์ สว.สส.สภ.เมืองสุพรรณบุรี น.ส.ฉวีวรรณ ศรีสมพันธุ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 และชาวบ้านกว่า 50 คน ร่วมฟังคำชี้แจง

โดยพระปลัดธนิตย์ กล่าวว่า ที่หายออกไปจากวัด เนื่องจากมีความเครียด จึงออกไปพักผ่อนสมอง และมีเงินส่วนตัวไป 7,000 บาท ส่วนเงินที่เหลือจากทอดกฐินหลังหักค่าใช้จ่ายๆ ต่างๆ แล้วเหลืออยู่ประมาณ 90,000 บาท ได้เก็บไว้ใต้ฐานพระประธานภายในวัด ซึ่งเงินจากการทอดกฐินมีหลักฐานการใช้จ่ายทั้งหมด เช่น นำไปจ่ายช่างกระจก ที่สร้างหอสวดมนต์ 1 แสนบาท ซึ่งก็มีพยานรู้เห็น ที่ยืมมานานตั้งแต่สมัยเทพื้น เพราะเงินหมุนไม่ทันอีกจำนวน 470,000 บาท จึงต้องไปหยิบยืมชาวบ้านมาก่อน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวม 664,850 บาท ซึ่งมีหลักฐานรายละเอียดทั้งหมด และยังเหลือเงินดังกล่าวข้างตน 90,000 บาท ที่เก็บไว้ใต้พระประธาน ไม่ได้เอาออกนอกวัดแต่อย่างใด

พระปลัดธนิตย์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่ผิดพลาด ต้องขออภัย แต่ที่ออกไปพักผ่อนสมอง มีพระในวัดรับรู้ เพราะอาตมาปรารภมาหลายวันแล้วว่าเครียด เพราะยืมเงินโยมมา โยมก็ต้องใช้ แต่ยังหาไม่ได้ ซึ่งอาตมาเครียดมาก ที่ผ่านมาช่วงโควิด ทางวัดไม่มีรายได้ และอย่างที่ชาวบ้านทราบกันดี หอสวดมนต์ที่สร้างก็ใช้เงินกฐินเงินผ้าป่าสร้างมาจนเสร็จสิ้นอย่างที่เห็น มีมูลค่าหลายสิบล้าน ไม่ได้เอาเงินไปใช้อย่างอื่น แต่นำมาทะนุบำรุงวัด อย่างไรก็ตาม เงินที่ยืมญาติโยมมาจะใช้คืนให้ทุกบาททุกสตางค์ ส่วนที่ยืมชาวบ้านหลายราย เนื่องจากบางรายยืมมานาน ก็ต้องไปยืมรายอื่นมาใช้เขาก่อน ซึ่งทุกคนมองว่าอาตมาหนี จริงๆ ไม่ได้ไปหนี

สำหรับรายการค่าใช้จ่ายเงินทอดกฐินของวัดบางปลาหมอ ทอดวันที่ 12 พ.ย. 66 มีทั้งหมด 9 รายการหลักๆ 1.วันที่ 12 พ.ย. จ่ายค่ากระจกหอสวดมนต์ 1 แสนบาท 2.วันที่ 13 พ.ย.ชำระหนี้เงินยืม 150,000 บาท 3.ชำระหนี้เงินยืม 2 หมื่นบาท 4.วันที่ 15 พ.ย. ชำระหนี้เงินยืม 200,000 บาท 5. วันที่ 15 พ.ย. ชำระหนี้เงินยืม 100,000 บาท 6.จ่ายค่าเต็นท์ 5,000 บาท 7.ถวายพระ รวม 18,000 บาท 8.จ่ายหนี้ร้านค้า 41,570 บาท 9.วัตถุมงคลแจกงานกฐิน 8,330 บาท ค่าเหลี่ยม 5,990 บาท พระรูปไม้แกะ16,000 บาท เบ็ดเสร็จรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 664,850 บาท จากยอดกฐิน 717,186 บาท 75 สต.

ด้านนายจิตรติ รามเนตร รักษาการนายอำเภอเมืองสุพรรณบุรี กล่าวว่า สรุปได้ว่าทางเจ้าอาวาสวัดบางปลาม้า ได้มาชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งทุกฝ่ายรับทราบร่วมกัน กรณีเงินกฐินมีรายการรายรับรายจ่ายอย่างไร เลยเป็นมติร่วมกันในส่วนของพี่น้องประชาชน ถ้าพูดในแง่หลักของกฎหมาย ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดต่างเห็นชอบร่วมกัน ว่าเงินก้อนดังกล่าวที่ได้จากการทอดกฐินนำไปใช้จ่ายในการทะนุบำรุงพระศาสนา ไม่ได้หายไปทางไหน รวมถึงการชี้แจงบัญชีรายรับรายจ่ายและมีเอกสารถูกต้องเรียบร้อย ทำให้ประเด็นเรื่องเงินกฐินจบด้วยดี ชาวบ้านไม่ติดใจ และที่ประชุมได้พิจารณาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไป ดำเนินการถอนแจ้งความให้จบสิ้นกระบวนการ

“ส่วนของเงินที่เป็นการกู้ยืมส่วนตัว และเจ้าอาวาสกล่าวอ้างว่านำมาใช้ในการดูแลวัดทะนุบำรุงสาธารณประโยชน์ภายในวัด เป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนที่ให้กู้ยืม มีการตกลงหารือกันกับเจ้าอาวาสโดยตรง เพื่อยืนยันว่า 30 กว่ารายที่ให้กู้ยืม แต่ละรายเป็นมูลนี้จำนวนเงินเท่าไหร่ บางรายที่มีสลิปถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็อาจจะใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้ บางรายเป็นการตกลงด้วยวาจา ต้องมองในแง่ความบริสุทธิ์ใจเป็นหลัก ตัวเจ้าอาวาสก็แสดงเจตนาที่จะใช้หนี้กับทุกคน และเป็นเรื่องของการตกลงระหว่างผู้ให้ยืมกับผู้กู้ยืมว่าจะชำระหนี้คืนกันอย่างไร เป็นเรื่องระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ถือว่าเป็นการดำเนินการที่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้ ถือว่าเป็นไปด้วยความราบรื่น น่าชื่นชมพี่น้องประชาชนมีความคิดเห็นหลากหลาย ซึ่งเป็นครรลองของระบอบประชาธิปไตย ที่มีความคิดเห็นแตกต่างแต่ไม่แตกแยกกัน” นายจิตรติ กล่าว