เมื่อวันที่ 25 พ.ย.นายวรรณชัย  บุสนาม ผอ.สพป.หนองบัวลำภู เขต 2 เปิดเผยภายหลังการประชุม อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองบัวลำภู เขต 2  ครั้งที่ 9/2566 ที่มี ดร.รอง ปัญสังกา ประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองบัวลำภู เขต 2 เป็นประธานการประชุม พร้อมคณะกรรมการ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่เข้าร่วมประชุม

โดยมีประเด็นในการนำเสนอการดูแลโรงเรียนที่เรียนร่วม ตามที่มีสื่อมวลชนได้เสนอข่าวว่ามีโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ร่วม 27 แห่งไร้ทั้งครูและนักเรียน ที่ต้องนำนักเรียนไปเรียนร่วมหรือโรงเรียนดีใกล้บ้าน(แม่เหล็ก)กับโรงเรียนใกล้เคียงตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) อันเนื่องมาจากมีจำนวนนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ที่ สพฐ.กำหนด จึงเป็นเหตุให้มีหลายโรงเรียนปล่อยให้เป็นพื้นที่ว่างเปล่า ขาดการดูแลรักษา ทรัพย์สินถูกลักขโมย จนเป็นกลายเป็นแหล่งมั่วสุมของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ทวงถาม รมว.ศธ.และผู้บริหาร ศธ.ก่อนที่จะมีการประชุม ครม.สัญจร ครั้งแรกที่จังหวัดหนองบัวลำภูในวันที่ 3-4 ธันวาคม

นายวรรณชัย กล่าวว่า ในส่วนของ สพป.หนองบัวลำภู เขต 2 มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน จำนวน 52 โรงเรียน ถูกยุบ/รวม จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่โรงเรียนบ้านห้วยนาหลวง รวมกับ โรงเรียนหนองกุงศรีโพธิ์สมพร  โรงเรียนบ้านภูพระโนนผักหวาน สาขามอเลี้ยว รวมกับ โรงเรียนบ้านภูพระโนนผักหวาน อ.นากลาง และโรงเรียนบ้านหินฮาวน้ำกงวิทยา สาขาบ้านชำภูทอง รวมกับ โรงเรียนบ้านหินฮาวน้ำกงวิทยา อ.สุวรรณคูหา

ในขณะที่มีการยุบ/เลิกสถานศึกษา จำนวน 3 แห่งได้แก่โรงเรียนบ้านห้วยนาหลวง ทรัพย์สินที่ใช้งานได้นำมาไว้ที่โรงเรียนหลัก และองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ ขอใช้พื้นที่เป็นที่ทำการสำนักงาน โรงเรียนบ้านหินฮาวน้ำกงวิทยา สาขาบ้านชำภูทอง ทรัพย์สินที่ใช้งานได้นำมาไว้ที่โรงเรียนหลัก สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบลนาสี(กศน.)เดิม ปัจจุบันเป็น สกร.ตำบลนาสี ขอใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ประจำตำบลนาสี และโรงเรียนบ้านภูพระโนนผักหวาน สาขามอเสี้ยว อ.นากลาง ยังไม่มีหน่วยงานใดขอใช้

สำหรับมาตรการในกำกับดูแลสถานศึกษาดังกล่าวข้างต้น สพฐ.ได้ให้แนวทางที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศคือ โรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 120 คนลงมาต้องจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพ กระบวนการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV / DLIT การนำระบบ ICT มาใช้เพื่อการบริหารและการจัดการสอน ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ประสงค์จะไปเรียนร่วมกับโรงเรียนอื่น ต้องมีการสร้างความเข้าใจกับชุมชน ตัวแทนผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน อปท.และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ (Stakeholders)เพื่อรับฟังความคิกเห็นในการบริหารจัดการโรงเรียนมีนักเรียนตั้งแต่ 120 คนลงมา

สำหรับแนวทางที่ สพป.หนองบัวลำภู เขต 2 (พื้นที่การศึกษาหนองบัวลำภู เขต 2) ได้แก้ปัญหาให้กับโรงเรียนร่วมที่จำเป็นต้องนำนักเรียนไปเรียนรวมกับโรงเรียนใกล้เคียง(โรงเรียนแม่เหล็ก) ด้วยการเสนอขอค่าพาหนะรับ – ส่ง นักเรียนเพื่อรับนักเรียนมาเรียนรวมโรงเรียนหลัก พร้อมสนับสนุนรถราชการ ได้แก่ รถตู้ รถกระบะเพื่อนำนักเรียนมาเรียนรวมโรงเรียนหลัก โดยขอสนับสนุนงบประมาณไปยัง สพฐ.เพื่อเป็นค่าบริหารจัดการรถ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง พร้อมสำรวจความขาดแคลน ครูและบุคลากรทางการศึกษา สรรหา บรรจุแต่งตั้ง มีการนิเทศ ติดตาม การจัดการเรียนการสอนตามโครงการ DLTV อย่างต่อเนื่อง

ผอ.สพป.หนองบัวลำภู เขต 2 กล่าวว่า สำหรับปัญหาหลักๆที่ถูกจำกัดด้วยงบประมาณมีไม่เพียงพอ ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ขาดแคลนครู รวมถึงมีครูไม่ตรงตามสาขาเอกวิชา กระบวนการเรียนการสอนยังคงมีคละชั้น รวมถึงภาระงานอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากงานสอนประจำ ทางผู้บริหารในแต่ละระดับไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้ย้ำให้ผู้บริหารสถานศึกษาที่ต้องดูแลรับผิดชอบทั้งโรงเรียนหลัก โรงเรียนร่วม และโรงเรียนขนาดเล็ก ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัย เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและของ สพฐ.

ในขณะที่ นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดหนองบัวลำภู (กศจ.หนองบัวลำภู) ได้โพตส์ข้อความกล่าวถึงปัญหาดังกล่าวข้างต้น เสนอแนะให้หน่วยงานต้นสังกัดควรพิจารณาคืนพื้นที่ให้ธนารักษ์ดูแลและพิจารณาให้ส่วนราชการอื่นที่จำเป็นต้องใช้สถานที่ดูแลใช้ประโยชน์ต่อไปจะดีกว่า