นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ  การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)  ว่า   ผลงานวิจัย “หุ่นจำลองสำหรับฝึกเจาะหลอดเลือดและใส่สายสวน” ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นสิทธิร่วมกันระหว่างคณะแพทยศาสตร์ กับการยางแห่งประเทศไทย ที่ร่วมกันพัฒนาจนเกิดเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ นำมาสู่การผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในระดับอุตสาหกรรม 

สำหรับ กยท. ได้มีการผลักดันการพัฒนางานวิจัยด้านยางพารามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สร้างประโยชน์ในวงกว้างและเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา รวมถึงสนับสนุนให้นำผลงานวิจัยจากยางพาราไปใช้ประโยชน์ได้จริง  ซึ่งรวมถึงนวัตกรรมหุ่นจำลองที่ กยท. และคณะแพทยศาสตร์ฯ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ควบคู่ไปกับการนำยางพาราซึ่งมีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการแปรรูปเป็นหุ่นจำลองสำหรับฝึกเจาะหลอดเลือดและใส่สายสวน มาเป็นส่วนสำคัญในงานวิจัยนี้

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณการยางแห่งประเทศไทย ที่ได้ร่วมทำงานวิจัยกับโรงพยาบาลรามาธิบดี ประดิษฐ์คิดค้น สร้างนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาและตอบโจทย์แก่นักศึกษาแพทย์ ที่พร้อมเติบโตไปเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่จะทำประโยชน์ต่อสังคม จนเกิดเป็นผลงานนวัตกรรมนี้ขึ้น  ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้คิดค้นและ iNT ที่ทุ่มเทพัฒนางานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยพัฒนา ต่อยอด รวมถึงสนับสนุนทุนการวิจัย และประสานงานระหว่างมหาวิทยาลัยฯ กยท. และภาคธุรกิจเอกชน  ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ

ศ.พญ.ปิยนุช พูตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์หลอดเลือดและปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์หลักร่วมกับ คุณราตรี สีสุข นักวิทยาศาสตร์ จาก กยท.  กล่าวว่า  ผลงานวิจัย หุ่นจำลองสำหรับฝึกเจาะหลอดเลือดและใส่สายสวนนี้ มีแนวคิดมาจากการเจาะเลือดและใส่สายสวนบริเวณหลอดเลือดดำที่คอ ซึ่งเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการฝึกซ้อมหัตถการนี้กับหุ่นจำลองให้เกิดความชำนาญก่อนที่จะลงมือปฏิบัติในผู้ป่วยจริง นอกจากนี้ การฝึกซ้อมที่กระทำในร่างอาจารย์ใหญ่ (Soft Cadaveric) มีไม่เพียงพอต่อแพทย์ที่ฝึกปฏิบัติ และหุ่นฝึกซ้อมเจาะเลือดที่ผลิตจากต่างประเทศและนำเข้านั้นมีราคาสูงมากและหาซื้อยาก ทีมวิจัยมหิดลจึงร่วมกับ กยท. คิดค้นและพัฒนาหุ่นจำลองดังกล่าวให้กับแพทย์ในเวชปฏิบัติทั่วไป เพื่อให้เกิดความชำนาญก่อนที่จะลงมือปฏิบัติในผู้ป่วยจริง เป็นการสร้างผลงานนวัตกรรมที่ผลิตโดยคนไทย ที่สามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ ยกระดับนวัตกรรมของประเทศไทย