เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่สังคมไทยยังคงพูดถึงอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากการเสียชีวิตของ นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล เจ้าของเพจสู้ดิวะ อาจารย์แพทย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้โพสต์เรื่องราวของตน ที่กลายเป็นผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 4 ในวัย 28 ปี แม้จะไม่ใช่คนสูบบุหรี่และชอบออกกำลังกาย จนเป็นที่พูดถึงไปทั่วสังคมไทย ที่ต่างหันมาตื่นตัวเกี่ยวกับการป่วย “มะเร็ง” กันมากขึ้นนั้น

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทางด้าน “มูลนิธิชีววิถี” ได้ออกมาเผยข้อมูลผ่านแฟนเพจถึงผลการวิจัยเกี่ยวกับการป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด ปอดเรื้อรังอุดตัน และหอบหิด อันเนื่องมาจากฝุ่นพิษที่เพิ่มมากขึ้นของคนไทย โดยระบุว่า “ความเจ็บป่วยด้วยโรค #มะเร็งปอด และ #โรคทางเดินหายใจ อื่นๆในภาคเหนือไม่ใช่เหตุบังเอิญ #สู้ดิวะ”

งานศึกษาอัตราการเสียชีวิตของคนไทย เรื่อง “Post Universal Health Coverage Trend and Geographical Inequalities of Mortality in Thailand” โดย Suchunya Aungkulanon และคณะ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal for Equity in Health เมื่อเดือนธันวาคม 2559 ให้ข้อมูลการวิเคราะห์ที่น่าสนใจมาก

โดยผลการศึกษาจากการศึกษาอัตราส่วนการตายมาตรฐานของ 12 ภัยคุกคามสุขภาพในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยระหว่างปี 2544-2557 พบว่าประชาชนในภาคเหนือของไทยเกือบทุกจังหวัดมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหอบหืด มะเร็งปอด และปอดอุดกั้นเรื้อรังสูงกว่าประชาชนในพื้นที่อื่นๆอย่างชัดเจน (พื้นที่สีแดง หรือส้ม)

เช่นเดียวกับปัญหาโรคหอบหืดในภาคใต้ตอนล่างที่สูงค่อนข้างมาก ซึ่งสอดคล้องกับปัญหาฝุ่นพิษจากการเผาไหม้เพื่อขยายสวนปาล์มในอินโดนีเซียในช่วงเวลาดังกล่าว

อย่างไรก็ตามขณะนี้ปัญหาในฝุ่นพิษจากอินโดนีเซียที่ส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์ และภาคใต้ของไทยเริ่มลดลง จากการออกกฎหมายของรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อควบคุมอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นต้นเหตุปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดน แต่ปัญหาในภาคเหนือของประเทศไทยนอกจากไม่ลดลงแล้วยังเพิ่มมากขึ้น จากการขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเพื่อป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของไทย

แม้ว่ารายงานการศึกษานี้ มิได้เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความตายจากโรคเกี่ยวกับปอดที่เชื่อมโยงกับปัญหาฝุ่นพิษในภาคเหนือโดยตรง แต่เมื่อประกอบกับข้อมูลอื่นๆเกี่ยวกับระบาดวิทยาของความป่วยไข้จากโรคทางเดินหายใจในฤดูกาลฝุ่นพิษที่มีล่าสุด ชี้ให้เห็นว่าปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่าในภาคเหนือกำลังเข้าสู่วิกฤตแล้วอย่างแท้จริง

มีเสียงเรียกร้องจากทุกฝ่ายให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐยกระดับการควบคุมการเผาในพื้นที่ปลูกข้าวโพด อ้อย และอื่นๆทั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและฝุ่นพิษข้ามพรมแดน โดยการควบคุมกลุ่มทุนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และน้ำตาลเช่นเดียวกับที่สิงคโปร์ดำเนินการกับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่ประกอบกิจการในสิงคโปร์

สิ่งที่ผู้นำรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐแถลงว่ากำลังดำเนินการเจรจาเรื่องนี้กับประเทศเพื่อนบ้านทั้งในรูปแบบทวิภาคีหรือภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนก็ทำไป แต่ไม่มีทางที่จะประสบผลสำเร็จ หากรัฐบาลไทยไม่สามารถจัดการกับกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ในประเทศ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการส่งเสริมการผลิตและการค้าข้าวโพดและอ้อยทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @BIOTHAI