ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านห้วยปลิง  หมู่ 7 ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง  นายนริศ นิรามัยวงศ์  ผวจ.ระนอง พร้อมด้วย นายราชัน มีน้อย ว่าที่ ร.ต.กิตติภพ รอดดอน รองผวจ.ระนอง หัวหน้าหน่วยราชการ ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น ประชาชน ได้ร่วมกันต้อนรับ นายวิสุทธิ์  ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) สภาผู้แทนราษฎร  นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาความต้องการ ข้อกังวลของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโครงการ Land Bridge  

โดยนายคงกฤษ  ฉัตรมาลีรัตน์  สส.ระนอง/กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ได้แนะนำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) สภาผู้แทนราษฎร  ที่ลงพื้นที่ พบปะชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 7 และจากพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อร่วมสัมมนารับฟังความคิดเห็น เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อผลกระทบที่ได้รับจากโครงการดังกล่าว 

นายอดิศักดิ์  สุดจิตร ผญบ.หมู่ที่ 7 กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร มีอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทุกคนเห็นด้วยกับโครงการในการสร้างความเจริญให้กับประเทศ หากแต่สิ่งที่เป็นกังวลคือเรื่องผลกระทบของสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านที่อ่าวอ่าง พื้นที่ที่จะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก รวมทั้งที่ดินที่จะถูกเวนคืน  กลัวไม่มีที่ดินไม่มีที่อยู่อาศัย อยากให้ภาครัฐคำนึงถึงความเดือดร้อนและวางมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในพื้นที่อย่างสมเหตุสมผล ต่อโครงการ Land Bridge ที่จะนำมาซึ่งความเจริญของประเทศ

แม้ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านห้วยปลิง บางส่วน ยังได้ร่วมแสดงความคิดเห็นข้อกังวล  อยากให้เลื่อนแนวเขตขึ้นไปอีกให้พ้นจากที่ดินชาวบ้าน ซึ่งหากทำจริงมันจะกระทบทั้งอาชีพประมงพื้นบ้านและเกษตรกรรม  และอีกทั้งชี้ว่า อ่าวอ่างเป็นที่ทำกินของชาวบ้านหลายหมู่ เช่น ชาวบ้านบางเบน, หินช้าง, ท่าฉาง, เกาะเหลา และเกาะสินไห ต้องมาหากินในพื้นที่อ่าวอ่าง  รวมทั้งเรียกร้องสิทธิว่าก่อนที่จะทำแลนด์บริดจ์ให้ทำบัตรประชาชนให้กับพี่น้องคนไทยพลัดถิ่นให้หมดเสียก่อน รวมทั้งเงินหนึ่งหมื่นบาทที่จะให้ประชาชน จะได้จริงหรือไม่ ขอฝากไปถึงรัฐบาลด้วย ซึ่งได้รับเสียงปรบมือจากชาวบ้านที่มาร่วมแสดงความคิดเห็น   

นางมนพร เปิดเผยว่า จากเวทีรับฟังความคิดเห็นที่บ้านห้วยปลิง เป็นไปในเชิงบวก สิ่งเล็กๆ น้อยๆ  แต่สิ่งที่คนในพื้นที่ยังกังวลคืออาชีพประมงพื้นบ้าน  ตลอดจนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะได้รับค่าเวนคืนที่ดินอย่างไร  แต่ภาพรวมทุกคนยังต้องการความเจริญ ซึ่งทุกโครงการจะมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนทุกเสียง  ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ   ขั้นตอนกำลังอยู่ที่รัฐบาลออกโรดโชว์เพื่อเชิญชวน  รวมทั้งกระทรวงคมนาคมและตั้งเรื่องว่าจ้างที่ปรึกษาโครงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ส่วนความสำเร็จในโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้กี่เปอร์เซ็นต์ ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เนื่องจากองค์ประกอบยังไม่ครบ  ต้องมีทั้งการรับฟังเสียงจากพี่น้องประชาชน  EIA ผ่านแล้ว รวมทั้งภาคเอกชนจากต่างประเทศสนใจ จึงจะมีคำตอบให้กับพี่น้องประชาชน   

ดร.จิรโรจน์ ศุกลรัตน์ ผอ.สำนักส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค ผู้แทน สนข.ได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ของโครงการแลนด์บริดจ์  มีความเป็นไปได้  แต่เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่  จึงจำเป็นต้องทำโรดโชว์ออกไปยังต่างประเทศ เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในโครงการนี้  แต่ก็มีหลายชาติที่สนใจ ซึ่งเราขายทั้งแพ็กเกจ ทั้งท่าเรือและระบบขนส่ง ซึ่งกลุ่มที่สนใจในขณะนี้คือกลุ่มธุรกิจเดินเรือที่มีลูกค้าอยู่ในมืออยู่แล้ว  รวมทั้งกลุ่มผู้บริหารท่าเรือ  ซึ่งเขาต้องรวมมาเป็นกลุ่ม  เพื่อลงทุนร่วมกัน  ส่วนชาวตะวันออกกลาง เช่น ประเทศซาอุดีอาระเบีย ก็สนใจแต่จะมาในรูปแบบของผู้ร่วมลงทุน