น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่  17-23 ก.ย. 64 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีข้อความที่เข้ามา 11,546,629 ข้อความ โดยจากการคัดกรองมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 218 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 115 เรื่อง โดยมากสุดอยู่ในกลุ่มข่าวนโยบายรัฐ/ข่าวสารทางราชการถึง 64 เรื่อง ตามมาด้วยกลุ่มข่าวผลิตภัณฑ์สุขภาพ 42 เรื่อง เศรษฐกิจ 5 เรื่อง และภัยพิบัติ 4 เรื่อง

ขณะที่ เมื่อพิจารณาถึงความเชื่อมโยงกับประเด็นโควิด-19 พบว่าภาพรวมของข่าวปลอมที่ต้องตรวจสอบในรอบสัปดาห์ล่าสุดนี้ สัดส่วนที่เป็นข่าวเกี่ยวกับโควิดเริ่มลดลง โดยมีจำนวน 52 เรื่อง หรือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนเรื่องที่ต้องทำการตรวจสอบ

“จากการที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อ Verify ข่าวที่เข้าเกณฑ์ตรวจสอบทั้งหมด ล่าสุดมีข่าวที่ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 43 เรื่อง ในจำนวนนี้พบว่าเป็นข่าวจริง 16 เรื่อง” นางสาวนพวรรณกล่าว

สำหรับข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 เรื่องรถไฟญี่ปุ่นมือสองที่บริจาคให้ไทย วิ่งบนรางรถไฟไทยไม่ได้ และไม่คุ้มค่าในการนำมาใช้ อันดับ 2 เรื่องพายุ 2 ลูกจ่อถล่มประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 20-26 ก.ย. นี้ อันดับที่ 3 เรื่อง ด.ต.ปริวัติ นามลา เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนเข็ม 2 ได้เพียง 1 สัปดาห์

น.ส.นพวรรณ กล่าวต่อว่า ขอบคุณประชาชนที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือแก้ปัญหาข่าวปลอม ด้วยการแจ้งเบาะแสเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และอยากเน้นย้ำว่าเมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียล ควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter  เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com/  และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87