นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)  เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ได้ร่วมพิจารณาข้อเสนอ และเห็นชอบแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จำนวน 10 พื้นที่ ประกอบด้วย 1. เมืองอัจฉริยะย่านพระราม 4 กรุงเทพฯ  2. โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบคลองผดุงกรุงเกษม กรุงเทพฯ  3. เมืองอัจฉริยะมักกะสันเพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน กรุงเทพฯ  4. การพัฒนาเมืองเก่าอย่างชาญฉลาด เทศบาลนครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

 5. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมืองอัจฉริยะ ความเป็นเลิศที่ยั่งยืนสู่ชุมชน จ.เชียงใหม่  6. เมืองศรีตรัง จ.ตรัง 7.ยะลาเมืองอัจฉริยะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน เทศบาลนครยะลา จ.ยะลา  8. ฉะเชิงเทรา เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน จ.ฉะเชิงเทรา  9. แสนสุขสมาร์ทซิตี้ เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี  และ10.นครสวรรค์สมาร์ทซิตี้ เทศบาลนครนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์

 นอกจากนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ยังพิจารณาร่างแผนงบประมาณบูรณาการเมืองอัจฉริยะประเทศไทย เพื่อเป็นกลไกด้านงบประมาณสำหรับพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม  โดบคณะอนุกรรมการ ฯ มีมติเห็นชอบ และให้นำเสนอต่อ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อนำเสนอต่อ คณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดตั้งงบบูรณาการเมืองอัจฉริยะต่อไป

ทั้งนี้ฝ่ายเลขานุการฯจะดำเนินการจัดประชุมเพื่อรายงานผลการพิจารณาการประกาศมอบตราสัญลักษณ์เพื่อรับรองการเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ จำนวนรวม 15 เมือง ต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อรับทราบ และประเมินว่าจะมีการจัดพิธีมอบตราสัญลักษณ์ให้ผู้พัฒนาเมืองทั้ง 15 เมืองจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในเดือนพ.ย.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล  อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มี 5 เมืองที่ได้รับการประกาศตราสัญลักษณ์ คือ สามย่านสมาร์ทซิตี้ ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ แม่เมาะเมืองน่าอยู่ และภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ.