ทุกวันนี้ “อินเทอร์เน็ต” กลายเป็นสิ่งที่หลายๆคนขาดไม่ได้ไปแล้ว โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 เพราะทุกคน ต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตในการเชื่อมต่อเพื่อเรียนและทำงานออนไลน์

ซึ่งพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยเป็นอย่างไร วันนี้มีผลการสำรวจในโครงการศึกษาวิจัย Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3 ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มานำเสนอ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสำนวจวิจัยในโครงการนี้ได้จัดทำขึ้นในช่วง เดือน มิ.ย.และ ก.ค. 64 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พอดี และภาครัฐก็ได้มีการมาตรการ ควบคุมพื้นที่จังหวัดที่มีการระบาด อย่างรุนแรง  มีการทำงานจากที่บ้าน หรือ เวิร์ก ฟรอม โฮม (work from home) ในองค์กรภาคธุรกิจเอกชน และหน่วยงานราชการแถบจะ 100% รวมถึงการเรียนออนไลน์จากที่บ้านของเด็กในวัยเรียนด้วย

การสำรวจปีนี้ สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ประชาชน จำนวน 39,145 ตัวอย่าง ภาคธุรกิจเอกชน 3,381 ตัวอย่าง และหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการปฐมภูมิแก่ประชาชน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)  โรงเรียน ฯลฯ จำนวน 935 ตัวอย่าง

และผลศึกษาที่ได้ก็มีทั้งข้อมูลจากฝั่งประชาชน และ ภาคธุรกิจเอกชน

“วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา” เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บอกว่า โครงการศึกษาวิจัยนี้ดําเนินการจัดเก็บข้อมูลสํารวจ และวิเคราะห์ ตัวชี้วัดทาง เศรษฐกิจดิจิทัลตามแนวทาง Measuring the Digital Transformation และ Digital Economy Outlook ของ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาด้านดิจิทัลของไทย ให้มีมาตรฐานในระดับนานาชาติ สามารถสร้างให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของไทยและสากล ตลอดจนการจ้างงานที่มีคุณค่าสูงรองรับการพัฒนาประเทศ ในยุคเศรษฐกิจและสังคมที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน

วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา

“ในปีนี้แตกต่างจากการศึกษาวิจัยในครั้งก่อนๆ เนื่องในปีแรกทำการวิจัยระดับพื้นที่เพียง 3 จังหวัดนำร่อง คือ ราชบุรี กาจญบุรี และสุพรรณบุรี แต่ครั้งในครั้งนี้ครอบคลุม 77 จังหวัด เพิ่มตัวชี้วัดมากถึง 57 ตัวชี้วัด และจะทำให้ไทยมีโมเดล การจัดเก็บข้อมูลตัวชี้วัดที่เป็นแนวทางการจัดเก็บข้อมูล และ การวิเคราะห์ข้อมูลตัวชี้วัดในระดับสากล ตามแนวทางการจัดเก็บของ OECD อีกด้วย”

สำหรับผลการศึกษาที่น่าสนใจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่จำนวน 85.1% มีการใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยมีระยะเวลาใช้งาน อยู่ที่ 6-10 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งใช้เพื่อทำงาน 75.2% การศึกษา 71.1% การทำธุรกรรม ซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์ 67.4% การติดต่อสื่อสารสนทนา 65.1% การทำธุรกรรมออนไลน์ด้านการเงิน 54.7% กิจกรรมสันทนาการ 53.1% มีส่วนร่วมในการดำเนินการภาครัฐ 49.6% การรับบริการออนไลน์ทางด้านสาธารณสุข 48.6% ติดตามข่าวสารทั่วไป 39.1% การใช้งานด้านอื่นๆ 35.6% การสร้างสรรค์เนื้อหาหรือคอนเทนต์ต่างๆ 28.2% และทำธุรกรรมด้านการท่องเที่ยวออนไลน์  2.2%

การสำรวจยังพบว่า คนไทย 76.6% ซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์ โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม โดยมี ช้อปปี้  และ ลาซาด้า เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ยอดนิยม และคนไทยจำนวน 60.7% ใช้บริการออนไลน์ภาครัฐ เช่น การชำระค่าน้ำและค่าไฟ และมี 64.6% ของคนไทยที่ต้องทำงานโดยใช้ การประชุมทางไกลผ่าน VDO Conference และสถานที่ที่ ใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ ที่พักอาศัยของตนเอง จำนวน 70.2% และที่ทำงาน  22.2%

แต่มีสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ คนไทย 61.7% เกิดความเครียดบ่อยมากขึ้นเมื่อทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ ส่วนความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยี มีคนไทยแค่ 43.6% ที่รู้จัก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ 43.1% เคยพบปัญหาด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี แนวทางการป้องกันใช้วิธีการป้อง เปลี่ยนรหัสผ่าน ในการเข้าระบบ เท่านั้น!!

มาดูข้อมูลภาคธุรกิจเอกชนกันบ้าง การสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการจำนวน 98.4% มีการใช้อินเทอร์เน็ต และ ธุรกิจเอกชนยังมีการใช้เทคโนโลยีในเรื่องของ Cloud ถึง 70.3% และทำ Data Analytics สูงถึง 61.5% และ ใช้ AI ในเรื่องของ Chatbot สูงถึง 41% โดย ธุรกิจทางด้านการเกษตรเพิ่มขึ้น 54.6% ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 27.4% และธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น 27.9% ส่วนการท่องเที่ยวและสันทนาการมีการใช้ออนไลน์ลงลดถึง 76.4% สาเหตุหลักอาจจะเกิดจากการปิดประเทศ ในขณะที่แฟชั่นลดลง 44.8% และวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรลดลง 36.5% เนื่องจากมีจำนวนโรงงานที่ปิดตัวมากขึ้น

การสำรวจยังพบว่า 73.9% ของผู้ประกอบการมีช่องทางออนไลน์เพื่อจำหน่ายสินค้าและบริการ และ 28.0% ของผู้ประกอบการมีการสั่งซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ช่องทางออนไลน์ที่นิยมใช้คือ ยูทูบ ไลน์ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ เป็นต้น และผู้ประกอบการ 80.5% รู้จัก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในขณะที่ 27.1% เคยพบปัญหาด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี โดยการป้องกันส่วนใหญ่จะใช้ระบบยืนยันตัวตน และสำหรับหน่วยงานรัฐ มีพนักงานด้านไอทีน้อยมีสัดส่วนไม่ถึง 5% เมื่อเทียบแผนกอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม สดช.ได้มีการลงนามกับหน่วยงานด้านดิจิทัลของภาครัฐ 6 แห่งเพื่อบูรณาการ ฐานข้อมูล ภาครัฐให้เชื่อมโยงเกันและเปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐ และเอกชนสามารถนําผลการศึกษามาประเมินเพื่อกําหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป.

จิราวัฒน์ จารุพันธ์