นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวในการเป็นประธาน KICK OFF กฎหมายชาติพันธุ์: เดินหน้าคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตทุกกลุ่มวัฒนธรรมบนความเสมอภาค ที่ชุมชนบ้านผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทยอย่างเสมอภาค โดยมีนโยบายให้ความเท่าเทียม ดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ด้วยสวัสดิการโดยรัฐ รัฐบาลจะสนับสนุนร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ทุกฉบับ ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะนี้ เพื่อให้การคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาคในฐานะพลเมืองไทย
รมว.วธ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้กฎหมายชาติพันธุ์จะเป็นกลไกสร้างการมีส่วนร่วม เปิดพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้แสดงอัตลักษณ์ที่หลากหลาย หนุนเสริมให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มีศักยภาพ มีความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้บนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม เป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และการมีกฎหมายดังกล่าว ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ในการขับเคลื่อนสร้างสังคมที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย ให้คนทุกกลุ่มวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม กฎหมายฉบับนี้จึงใช้มิติทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม สอดคล้องกับนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล
ด้าน ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นอีกก้าวสำคัญของสังคมไทย ในการให้การยอมรับตัวตนและการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยขณะนี้ วธ. ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้ ครม. พิจารณารับหลักการ โดยมีหลักการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 ที่คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ เน้นสร้างความเข้าใจในวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย สร้างพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยกฎหมายฉบับนี้ ยังมีการกำหนดให้มีเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนชาติพันธุ์ ในฐานะชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน มีความมั่นคงในชีวิต มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ ด้วยการดำรงชีวิตและวิถีการทำมาหากินบนฐานภูมิปัญญา ถือเป็นกฎหมายที่มีความก้าวหน้าในการใช้มิติทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกวัฒนธรรม