เมื่อวันที่ 25 ม.ค. เวลา 10.00 น. ที่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดีอี พร้อมด้วย นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษารัฐมนตรีดีอี, นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี), นายวัลลภ รุจิรากร เลขานุการ รมว.ดีอีเอส, พล.ต.ต.มณเทียร พันธ์อิ่ม บช.สอท., พ.ต.อ.ไพโรจน์ หมื่นกล้าหาญ รอง ผบก.ตอท. รับเรื่องร้องเรียนจาก นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ที่พาผู้เสียหายถูกหลอกลงทุนเทรดหุ้นทั้งในและต่างประเทศ ทั้งหมดกว่า 70 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 91 ล้านบาท เข้ายื่นหนังสือเพื่อหามาตรการกวาดล้าง กระบวนการอาชญากรรมทางออนไลน์ที่สร้างความเดือดร้อนกับประชาชนให้หมดไป 

นางปวีณา กล่าวว่า กลุ่มผู้เสียหายได้รวมตัวกันเข้าร้องทุกข์ ตั้งแต่วันที่ 17-24 ม.ค. 67 ส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ไม่มีประสบการณ์ในตลาดหุ้น ได้ถูกชักชวนทางเฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ไอจี ทวิตเตอร์ ต่างๆ ให้เข้าศึกษาเรื่องการเทรดหุ้น โดยใช้รูปของเหล่า อาจารย์ และบุคคล ที่มีชื่อเสียงในวงการตลาดหุ้นไทยมาหลอกลวง และแนะนำให้เปิดพอร์ตการลงทุนกับโบรกเกอร์ปลอม โดยจะมีบุคคลที่อ้างเป็นผู้ช่วยอาจารย์ให้ซื้อ-ขายหุ้นตามคำชี้แนะ ให้โอนเงินเข้าบัญชีของโบรกเกอร์ปลอมเพื่อนำไปซื้อหุ้น

โดยเหยื่อจะหลงเชื่อ เนื่องจากตรวจสอบแล้วหุ้นดังกล่าวมีการปรับตัวตามภาวะตลาดจริง แต่เมื่อเหยื่อจะทำการถอนเงินลงทุน ก็ไม่สามารถถอนได้ จึงรู้ว่าถูกหลอก ซึ่งเป็นที่น่าเป็นห่วงว่าปัจจุบันนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ โฆษณา ชวนเชื่อ จัดการอบรมสัมมนาจากขบวนการหลอกลวงอยู่ในโซเชียลอย่างแพร่หลาย โดยเป็นลักษณะของบริษัทที่ตั้งขึ้น เพื่อการหลอกลวงเกี่ยวกับการลงทุนเทรดหุ้นปลอมทั้งระบบ

“มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องมาตั้งแต่ 17 ม.ค. ถึงปัจจุบัน ได้มีคนร้องเรียนเข้ามาเรื่อยๆ โดยถูกชักชวนทางเฟซบุ๊ก โดยได้เอารูปหน้าอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในวงการหุ้น มาทำให้หลงเชื่อ มีการจัดสัมมนาใน รร. ชื่อดัง มีการใช้โบรกเกอร์ปลอมหลอกให้ลงทุน ครั้งแรกๆ ถอนคืนได้ พอหลังๆ จะไม่สามารถเอาเงินคืนได้ จึงอยากให้ภาครัฐแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และประชาสัมพันธ์ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่ออีก”

น.ส.เอ (นามสมมุติ) หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า ที่ผ่านมาไปร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กองบังคับการปราบปราม แต่คดีไม่มีความคืบหน้า จึงมาขอความความช่วยเหลือจากดีอี ที่ตกเป็นเหยื่อเพราะไม่มีความรู้ ขาดประสบการณ์ เข้าไปเปิดดูในเฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก มีการเชิญชวนในเรียนรู้การลงทุนที่เอาชนะตลาดฯ เมื่อสนใจ ก็มีผู้ช่วยของอาจารย์ ดึงเข้ามาในกลุ่มไลน์ ช่วง 2 เดือนแรก มีแค่แนะนำการลงทุน ทำให้เชื่อ หลังจากนั้น ตลาดหุ้นไทยตก จึงเสนอให้มาเล่นในตลาดหุ้นฮ่องกง มีการส่งลิงก์ให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน แล้วเริ่มลงทุน  

จากนั้นผู้ช่วยจะมีการทักว่าได้โควตาพิเศษที่จะแนะนำหุ้นพิเศษ จึงเอาบ้านเข้าจำนอง นำเอาเงินมาลงทุน หวังให้ได้เงินกลับมาบ้าง แต่สุดท้ายไม่มีการซื้อหุ้นจริง เราจะเห็นตัวเลขเงินลงทุนและกำไร แต่ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ จึงรู้ว่าโดนหลอก เมื่อตรวจสอบพบว่าชื่อบัญชีที่โอนเงินไปลงทุนมีหลายแพลตฟอร์ม ปลายทางเป็นชื่อบริษัท และชื่อเจ้าของบัญชีเดียวกัน มีความเชื่อมโยงกัน จึงเชื่อว่าจะเป็นเครือข่ายเดียวกัน ทำเป็นขบวนการ โดยเสียหายไปทั้งหมเ 9 ล้านบาท จึงมาข้อความช่วยเหลือ

น.ส.บี (นามสมมุติ) กล่าวว่า ถูกชักชวนผ่านเฟซบุ๊ก ช่วงเศรษฐกิจไม่ดี จึงคิดหารายได้เพิ่มเติม จากนั้นมีผู้ช่วยอาจาร์ยข้ามาชักชวนให้เข้ากลุ่มไลน์ปิด แล้วจะจัดสัมมนาที่โรงแรม เป็นการพบลูกศิษย์ ตนได้เช็กกับสมาชิกในกลุ่ม 5-6 คน ก็บอกว่าเป็นอาจารย์ตัวจริง และ ได้เงินจริง ขณะเดียวกันผู้ช่วยอาจารย์ ได้บอกว่า จะมีการโอนเงินบริจาครายได้ให้กับการกุศล 50% จึงหลงเชื่อ หลังจากนั้น ก็ให้สมาชิกในกลุ่มออกจากกลุ่มหมด จึงรู้ว่าถูกหลอก และแจ้งความกับตำรวจ โดยปัจจุบันแพลตฟอร์มนี้ยังอยู่และสามารถเข้าไปเช็กบัญชีได้อยู่ 

“ในฐานะประชาชนผู้เสียหาย อยากขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตรวจสอบการโอนเงินระหว่างประเทศของบริษัทที่ตั้งขึ้นมาหลอกลวงเพื่อการลงทุนเทรดหุ้น ที่เชื่อว่ามีการนำเงินที่ถูกหลอกไปลงทุนต่อในตลาดคริปโต บิตคอยน์ ในต่างประเทศ เพื่อการฟอกเงินสีเทาให้ถูกกฎหมาย และของให้ธนาคารกวดขันการเปิดบัญชีของมิจฉาชีพที่ถูกอายัดแล้ว ไม่ให้เปิดใหม่ได้อีก และส่งเอกสารหลักฐานเส้นทางการเงินให้กับสถานีตำรวจที่รับแจ้งความ เพื่อประกอบสำนวนคดีได้อย่างรวดเร็ว และขอให้ดีอีมีการตรวจสอบการซื้อโฆษณาในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับการชักชวนให้ลงทุน แอบอ้างเป็นหน่วยงานต่างๆ และแอบอ้างผู้มีชื่อเสียงในสังคม”

ด้านนายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงฯ จะมอบเอกสารทั้งหมดให้ทางตำรวจไซเบอร์นำไปสืบสวน ดำเนินการต่อไป ซึ่งทางดีอีไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาได้เปิดศูนย์ AOC 1441 ขึ้นมารับแจ้งปัญหาหลอกลวงออนไลน์ มีการประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทำงานอย่างเป็นระบบ โดยปัญหาที่พบมาก คือ หลอกลงทุน ซึ่งมิจฉาชีพมีวิธีที่แยบยล มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าผู้เสียหายโทรฯ มาแจ้งเร็ว จะอาญัติบัญชีได้ใน 15 นาที แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่จะโทรฯ มาแจ้งช้า ทำให้ตอนนี้อาญัติทันได้แค่ 10% เท่านั้น

“ดีอีได้มีการประสานกับทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลาในการปิดกั้นเพจปลอมที่มีการซื้อโฆษณาเพื่อหลอกหลวง ซึ่งที่ผ่านมาปิดไปมากกว่า 1 แสนเพจแล้ว แต่มิจฉาชีพเหล่านี้ก็มีการเปลี่ยนคำ เปลี่ยนชื่อเพจ หรือรูปภาพ ทำให้เอไอ ไม่สามารถตรวจจับได้ จึงคิดว่าต้องมีการเพิ่มเครื่องมือให้มากขึ้น รวมถึงมีการเรียกแพลตฟอร์มมาประชุม เพื่อขันนอตให้การทำงานมีความเข้มข้นมากขึ้น”

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าเรื่องการบริหารจัดการซิม ในการก่ออาชญากรรมนั้น ได้ทำการระงับซิมที่โทรฯ เกิน 100 สายต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 67 ที่ผ่านมานั้น เอสไอเอส ระงับ 4,196 เบอร์ มายืนยันตัวแล้ว 233 คน ดีแทค ระงับ 7,344 เบอร์ มายืนยันตัวแล้ว 0 คน ทรู ระงับ 1,688 เบอร์ มายืนยันตัวแล้ว 1,688 คน เอ็นที ระงับ 9 เบอร์ มายืนยันตัวแล้ว 4 คน รวมเบอร์ที่ระงับทั้งสิ้น 13,237 เบอร์ มายืนยันตัว 1,925 คน เหลือเบอร์ที่ยังถูกระงับการใช้อีก 11,312 คน 

ส่วน ประกาศของ กสทช. เรื่องการยืนยันตัวผู้ถือครองซิม เกิน 100 เบอร์ ได้ประกาศใช้ในราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 67 อยู่ระหว่างการให้มายืนยันตัว หากไม่มา เตรียมระงับใช้ในวันที่ 14 ก.พ. 67 ในส่วนของผู้ถือซิมระหว่าง 6-100 เบอร์ หากไม่มายืนยันตัวตน เตรียมระงับในวันที่ 13 ก.ค. 67

ด้าน พ.ต.อ.ไพโรจน์ กล่าวว่า จากการรวบรวมการแจ้งความออนไลน์ พบมี 52 เคส ที่เข้ามาแจ้งความกับตำรวจ ที่เป็นการหลอกเทรดหุ้นโดยอาจราย์ชื่อดัง มูลค่าความเสียหาย 151 ล้านบาท ตรวจพบบัญชีม้า 18 บัญชี และตรวจสอบเบอร์โทรฯ พบอบู่ในประเทศไทย 4 หมายเลข แต่ได้ปิดเครื่องแล้ว กำลังตามเส้นทางการเงิน โดยมีเงินบ้างส่วนเข้าไปที่บริษัทมหาชน กำลังตรวจสอบว่ามีการฟอกเงินหรือไม่ เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วน ก็จะออกหมายจับ จึงฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ และหากหลงตกเป็นเหยื่อให้รีบโทรฯ 1441 เพื่ออายัดบัญชีทันที และประชาชนสามารถบล็อกเบอร์โทรฯ จากต่างประเทศได้ โดยกด *138*1# แล้วกดโทรฯ ออก เพื่อจะไม่ได้รับสายที่โทรฯ จากต่างประเทศหรือแก๊งของคอลเซ็นเตอร์ได้อีกต่อไป