จากกรณี มีผู้เสียหายร้องต่อสื่อมวลชน ว่าโดนเพื่อนบ้านบุกรุกยึดบ้านพักพื้นที่ย่านรามอินทรา โดยอ้างสิทธิ์การครอบครองปรปักษ์ ทั้งยังติดป้ายข่มขู่จะแจ้งตำรวจจับ หากเจ้าของบ้านกลับมาเอาบ้านคืน ขณะที่ทนายความฝ่ายเพื่อนบ้าน ก็ออกมาเปิดเผยว่า ฝ่ายเพื่อนบ้านมีหลักฐานในการครอบครองปรปักษ์จริง เรื่องอยู่ในชั้นศาลจึงต้องติดป้ายบอกเอาไว้ก่อน ทำให้เกิดประเด็นทางสังคมว่า “…ถ้าเราไม่อยู่บ้านนาน ๆ หลายปี เพื่อนบ้านจะมายึดเอาไปแบบกรณีนี้ ได้ด้วยเหรือ?…”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (10 ก.พ.) ในรายการ “เรื่องเล่าข่าวเด็ด” ทางช่อง MCOT News FM 100.5 ได้มีการโฟนอินกับ ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ที่ดูแลคดีของผู้เสียหายโดย ทนายเดชาวิเคราะห์คดีนี้ว่า การไปบุกรุกบ้านคนอื่นมันผิดทั้งกฎหมาย ผิดทั้งศีลธรรม ยกเว้นคนที่มีคุณสมบัติ “หน้าด้านจริง ๆ” ถึงจะไปทำแบบนี้ได้

ส่วนกรณีที่มีการเข้ายึดเอาบ้านทิ้งบ้านร้าง 5-10 ปี โดยที่เจ้าของบ้านไม่ได้เข้าไปดูแลลักษณะเป็นการครอบครองนั้น แม้จะทำได้แต่ส่วนใหญไม่มีใครเขาทำ ตนเป็นทนายมา 39 ปี เคยเห็นแต่เข้าไปครอบครอง ที่ดินรกร้างว่างเปล่า การเข้าไปยึดเอาบ้านเขาแบบนี้ไม่เคยเจอ กฎหมายเขาใช้คำว่า “อสังหาริมทรัพย์” มันก็อาจจะเป็นไปได้ ซึ่งเคสนี้ น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

โดยการครอบครอง ต้องครอบครองไว้ถึง 10 ปี ไม่ขาดช่วง ปีที่ 1-10 จะออกไปข้างนอกขาดช่วงขาดตอนไม่ได้ โดยระหว่างนี้เจ้าของบ้านเจ้าของที่ดินไม่ได้มาสนใจ หรือมาดูแลที่ดินระหว่างที่ครอบครองด้วย แล้วการครอบครองคือต้องมีเจตนาครอบครองเพื่อตนเองก็พักอาศัยมีการใช้น้ำ ใช้ไฟ ไม่ใช่เอาสิ่งของไปวางกอง ๆ ไว้ อย่างกรณีนี้เห็นเอาแต่สายไฟ อุปกรณ์ก่อสร้าง ไปวางทิ้งเอาไว้ ส่วนเรื่องการไปเปิดร้านอาหารตามสั่ง เป็นการเข้าไปยึดบ้านครั้งที่ 2 ส่วนครั้งแรกเขาอ้างว่าไปครอบครอง 13 ปี แต่พอไปตรวจสอบผ่าน Google Street View โดยการใส่บ้านเลขที่ ทำให้เห็นสภาพบ้านในแต่ละปี ปรากฏว่า การครอบครองดังกล่าวพบว่าไม่ถึง 10 ปี แต่อย่างใด

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การครอบครองต้องเป็นการครอบครองด้วยตนเอง หากอ้างว่าครอบครองมา 13 ปี แล้วทำไมไม่ไปยื่นต่อศาลตั้งแต่ตอน 10 ปี แสดงว่าที่ผ่านมาไม่ได้ต้องการครอบครองเพื่อตนเอง แค่เอาของไปวางเฉย ๆ แต่พอกลับมาใหม่ทีนี้ต่อน้ำต่อไฟใช้เลย ดังนั้น กรณีที่เกิดขึ้นต้องมีการดำเนินคดีเพิ่มสัปดาห์หน้านี้ เบื้องต้นไปแจ้งความบุกรุกเอาไว้แล้ว ซึ่งคดีเก่าก็ยังคงมีอยู่ ส่วนทนายความอีกฝ่ายก็เปลี่ยนใหม่ คนแรกยกธงขาวไปแล้ว เพราะเขามองว่ามัน “ผิดศีลธรรม” คดีนี้มีการแจ้งความจับกุมดำเนินคดีหลายคน ภายหลังมีการเปลี่ยนเอาทนายมี “คุณธรรมสูง” มาทำงานแทน ยุให้ไปฟ้องศาลยึดบ้านคนอื่น ตอนแรกเขาออกไปแล้ว แต่โดนยุให้กลับเข้ามาใหม่ ทั้งนี้หากมีการฟ้องร้องต่อศาลอีกฝ่ายก็ยังเป็นเจ้าของไม่ได้เพราะต้องรออีก 4-5 ปี กว่าจะถึงขั้นฎีกา

ในส่วนของรูปคดี แม้ฝ่ายเราจะมีจุดอ่อนเรื่องทิ้งร้างไปนาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมาครอบครองได้ ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ครอบครองเพื่อตัวเองเอาแต่สิ่งของมาวางทิ้งไว้ ส่วนร้านอาหารก็เพิ่งทำได้ไม่กี่วัน ทั้งนี้หากแจ้งตำรวจแล้วเรื่องไม่คืบหน้าก็อาจจะฟ้องตรงต่อศาลเป็นคดีเอง มีการฟ้องขับไล่ ให้ศาลสั่ง เพราะบ้านของเราเองแต่เขาไม่ให้เราเข้าบ้าน
ต่อข้อถามที่ว่า คดีนี้น่าจะมีการเจรจากันได้หรือไม่นั้น ทนายเดชา ระบุว่า มีการเจรจาซื้อขายบ้านกันไปแล้วเขาจะให้แค่ 2 ล้าน ทั้งที่ราคามันควรจะได้มากกว่า 3 ล้าน กรณีนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นการยอมรับกลาย ๆ ว่าบ้านไม่ใช่ของคู่กรณี ไม่ได้ยืนกรานจะเอาบ้านแบบฟรี ๆ ถึงได้ยอมรับว่า จะซื้อในราคานั้น ๆ

สำหรับคำแนะนำในกรณีป้องกันไม่ให้เกิดการเข้าไปครอบครองบ้านเหมือนกรณีที่เกิดขึ้นนั้น ทนายเดชา กล่าวว่า ก็ควรกลับไปดูบ้าน ไปเปลี่ยนกุญแจคล้องใหม่บ้าง ใส่กุญแจติดป้ายอะไรให้ชัดเจน มีการติดป้ายสงวนสิทธิ์ เสียภาษีที่ดินอะไรต่าง ๆ ต้องแวะไปดูกันบ้าง ไปแล้วก็ถ่ายรูปเอาไว้ด้วย บอกพิกัดสถานที่ชัดเจน กรณีหากใครจะซื้อที่ดิน ก็ต้องไปดูด้วยว่าเป็นที่ดินมีข้อพิพาทหรือไม่ ครอบครองปรปักษ์หรือไม่ มิเช่นนั้นก็จะเหมือนคดีที่ดินวัดสวนแก้ว หรือ “ถุงกล้วยแขกของพระพยอม”

ทั้งนี้เรื่องที่เกิดขึ้นนั้น สืบเนื่องมาจาก มีชายวัย 64 ปี ประกอบอาชีพทำธุรกิจจนมีฐานะร่ำรวย ได้มาซื้อบ้านหลังหนึ่งทิ้งเอาไว้เมื่อประมาณ 30 ปีก่อนในพื้นที่ย่านรามอินทรา ต่อมาได้ยกบ้านหลังดังกล่าวให้หลานชาย โดยเมื่อเดือนกันยายนปี 2566 หลานชายมาดูบ้าน แต่กลับต้องเจอเรื่องไม่คาดฝัน เมื่อเพื่อนบ้านใกล้เคียงบุกรุกเข้ามาในบ้าน มีการสร้างความเสียหายพักรั้ว และเอาสิ่งของต่าง ๆ ในบ้านไปด้วย ทำให้มีการแจ้งความดำเนินคดีอาญากันขึ้น เหตุเกิดช่วงวันที่ 1 ก.ย. -17 ต.ค. 66

ขณะที่ฝ่ายเพื่อนบ้าน พยายามพูดคุยเจรจาเพราะไม่อยากติดคุกคดีอาญา พร้อมขอโทษในสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งยังบอกจะซื้อบ้านต่อในราคา 1 ล้านบาท แต่ฝ่ายผู้เสียหายระบุว่า เฉพาะบ้านก็มีราคาเกินกว่า 3 ล้านบาทแล้ว ทำให้ตกลงกันไม่ได้ สุดท้ายฝ่ายเพื่อนบ้านโดนแจ้งความเอาผิดฐานบุกรุกและข้อหาอื่น ๆ

คดียังไม่ทันคืบหน้า ปรากฏว่าใน ต้นเดือน ก.พ. 2567 ฝ่ายเพื่อนบ้านกลับมาอ้างว่า มีการครอบครองปรปักษ์ไปแล้ว ก่อนจะตัดกุญแจบ้านออก ติดป้ายห้ามเจ้าของบ้านเข้าบ้านตัวเอง ก่อนจะประกอบกิจการขายอาหาร ทำให้เจ้าของบ้านต้องแจ้งความเอาผิดอีกครั้ง และตกเป็นข่าวครึกโครม ภายหลังมีสำนักข่าวและสื่อต่าง ๆ ไปรายงานข่าว ทำให้ฝ่ายเพื่อนบ้านตกใจ เก็บข้าวของออกจากบ้าน ไม่มีการตั้งร้านเหมือนหลายวันที่ผ่านมา.

ขอบคุณข้อมูลและภาพจากรายการ “เรื่องเล่าข่าวเด็ด” เพจเฟซบุ๊ก ทนายคลายทุกข์