จากกรณีชาวบ้านพบ “เสือโคร่ง” ออกนอกป่าคลองลาน จ.กำแพงเพชร เดินป้วนเปี้ยนบนถนนและคาบหมูที่ชาวบ้านเลี้ยงในเล้าหลังบ้านไปกิน เจ้าหน้าที่ตรึงกำลังเตรียมจับคืนสู่ป่าอนุรักษ์ นั้น

พบเสือโคร่งผอมโซเดินกลางหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่อุทยานฯเร่งค้นหาหวั่นเป็นอันตราย

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 ก.พ. นายสุระชัย โภคะมณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานฯ 60 นาย ยังคงควบคุมสถานการณ์พื้นที่โดยรอบและประชาสัมพันธ์ไม่ให้ชาวบ้านในหมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกและใกล้เคียง ทำร้ายเสือโคร่ง และไม่ให้เข้าใกล้พื้นที่รัศมี 5 ตารางกิโลเมตร เกรงได้รับอันตราย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แบ่งกำลัง 4 ทิศเฝ้าสังเกตการณ์พฤติกรรมเสือโคร่งตลอดเวลาทั้งคืนวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยติดตั้งกล้อง NCAPs จากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และกล้อง Camera Trap จากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF ประเทศไทย) ตามต้นไม้หลายๆ ต้น เพื่อคอยดูความเคลื่อนไหวของเสือโคร่งที่จะย่องเข้ามาดูเหยื่อ พร้อมวางแผนขั้นต่อไปทันทีที่เห็นภาพจากกล้องที่ติดตั้งไว้

ทั้งนี้ จากการประเมินอาการของเสือโคร่งพบเป็นเสือโคร่งเพศผู้ วัยรุ่น สูงประมาณ 70-80 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.50 เมตร อายุประมาณ 2 ปี ร่างกายผอมเดินเหมือนไม่มีแรง มีอาการเหมือนหิวอาจอดอาหารมาหลายวันและมีอาการหวาดระแวงวิ่งบ้างเดินบ้างตลอด จากนั้นก็หลบหมอบในพุ่มไม้ป่ารกเงียบๆ

ขณะที่ น.ส.พิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สบอ.12(นครสวรรค์) ทีมเจ้าหน้าที่ WWF กองทุนสัตว์ป่าโลกสากลเป็นองค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศและ น.ส.อังสนา มองทรัพย์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ปาห้วยขาแข้ง ร่วมกันปรึกษาวางแผนด้วยวิธียิงยาสลบพร้อมกรงสำหรับใส่สัตว์ที่เตรียมไว้ เพื่อเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ทันที นำไปฟื้นฟูที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ทั้งนี้ กล้อง NCAPs จากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และกล้อง Camera Trap จากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF ประเทศไทย) ตามต้นไม้หลายๆ ต้น บันทึกภาพและคลิป (ตามคลิปและภาพ) ติดตามการเข้าออกของเสือโคร่งตัวดังกล่าวในพื้นที่ป่ามะขามหวาน

เนื่องจากเสือโคร่งยังคงวนเวียนอยู่แถวเหยื่อ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ได้คาบไปจากเล้าของชาวบ้านเมื่อคืนวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา บันทึกภาพไว้ได้ แต่ทางเจ้าหน้าที่ฯ ก็ยังไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้ เนื่องจากเสือโคร่งหลบซ่อนตัวในพื้นที่ป่ารกทำให้เป็นอุปสรรคในการยิงยาสลบ อย่างไรก็ตามก็จะดำเนินการนำเสือออกจากพื้นที่ให้โดยเร็ว

โดยมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่จากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี มาเสริมเพิ่มอีก คาดว่าหากไม่มีอะไรผิดพลาด แผนการคงจะได้ตัวค่ำคืนนี้ สำหรับจุดที่เสือโคร่งมาที่นี่อาจเป็นเพราะหมู่บ้านกว่าร้อยหลังคาเรือน ชุมชนของชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอะญอเกือบทุกหลังมีการเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะหมู ซึ่งบริเวณป่ารกท้ายหมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตก เขต ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ด้านทิศตะวันตก ห่างจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติคลองลานเพียง 500 เมตร

ส่วนชาวบ้านช่วงนี้ยังตื่นตระหนก หวาดระแวง ซึ่งหลายคนบอกว่าไม่เคยเห็นเสือโคร่งมาหลาย 10 ปีแล้ว อย่างไรก็ตาม เข้าใจในสถานการณ์ เจ้าหน้าที่ได้ประชาสัมพันธ์ และเดินยาม ซึ่งตอนนี้เสือตื่นตัววิ่งไปมาตลอดแนวลำคลองน้ำหลังหมู่บ้านพร้อมเสียงคำรามในยามค่ำคืน แต่เจ้าหน้าที่ที่เฝ้าระวังก็เข้าควบคุมสถานการณ์ได้เร็วและทันท่วงที ซึ่งขณะนี้มีหมูของชาวบ้านถูกเสือโคร่งคาบไปกิน 1 ตัวเท่านั้น ทั้งนี้นักวิจัยบอกว่า การล่าของเสือโคร่งนั้นจะใช้วิธีกระโจนเข้าใส่เหยื่อที่หมายตาไว้อย่างรวดเร็วโดยเป้าหมายที่บริเวณคอของเหยื่อ ซึ่งเป็นจุดตายสำคัญ เมื่อกินเหยื่อจนอิ่มแล้ว เสือโคร่งก็จะนำหญ้าหรือเศษใบไม้มาคลุมอำพรางเหยื่อไว้ เพื่อกลับมากินซากที่เหลือต่อ ซึ่งเสือหนึ่งตัวสามารถกินเนื้อได้ถึง 40 กิโลกรัมใน 1 ครั้ง เพราะฉะนั้นเสือต้องกินเก้งถึง 3 ตัวต่อสัปดาห์จึงจะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่หากประสบอยู่ในภาวะอาหารขาดแคลน เสือโคร่งก็อาจล่าสัตว์เล็กอย่าง หมูป่า ลิง นก ปลา หรือสัตว์เลื้อยคลาน ด้วยก็ได้.

ขอบคุณเครดิตกล้อง NCAPs จากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และกล้อง Camera Trap จากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF ประเทศไทย)