ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการแถลงข่าวประชาสัมพันธ์และเผยแพร่สายพันธุ์ข้าวที่เตรียมรับรองพันธุ์ใหม่ของกรมการข้าว ปี 2567 โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ร.อ.ธรรมนัส เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว จึงมอบหมายให้กรมการข้าว วิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องชาวนาในทุกมิติ ซึ่งกรมการข้าวมีการวางแผนการรับรองพันธุ์ข้าวในทุกปี อย่างน้อยปีละ 4 – 5 พันธุ์ โดยพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ที่จะรับรองพันธุ์นั้นต้องเร่งรัดงานวิจัยพัฒนาให้สามารถทนแล้งและทนน้ำท่วมได้ในพันธุ์เดียวกัน อีกทั้งมีความเหมาะสมในการปลูกแต่ละพื้นที่ในประเทศไทย ตลอดจนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้มีโอกาสแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

นายอนุชา กล่าวว่า พี่น้องชาวนาจะได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการใช้พันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง อีกทั้งยังลดความเสียหายจากการทำลายของโรค และแมลงศัตรูข้าว สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้จากการลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูข้าว สำหรับข้าวรับรองพันธุ์เดิมของกรมการข้าว ยังเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรได้เลือกปลูกตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และความต้องการของผู้บริโภค ส่วนข้าวพันธุ์ใหม่นั้นก็เป็นทางเลือกหนึ่งให้เกษตรกร ผู้บริโภคและผู้ประกอบการค้าข้าว ได้เลือกรับประทานข้าวที่มีความหลากหลาย และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย

นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวว่า ในปีนี้กรมการข้าวได้รับรองพันธุ์ข้าวที่มีความหลากหลายพันธุ์มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลือกปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง และตามความสนใจของผู้บริโภค โดยข้าวที่จะรับรองพันธุ์ทั้ง 10 สายพันธุ์ มีความหลากหลายประเภท ทั้งข้าวขาวพื้นนุ่ม ขาวขาวพื้นแข็ง ข้าวหอมไทย ข้าวเหนียว ข้าวญี่ปุ่น ข้าวพื้นเมือง และข้าวสาลี ซึ่งข้าวแต่ละประเภทจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันตามการนำไปใช้ประโยชน์ อาทิ

ข้าวขาวพื้นแข็ง อายุสั้น 90-100 วัน ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ข้าวทั่วไป 10-15 % ศักยภาพการให้ผลผลิต 1,000-1,200 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานต่อโรคขอบใบแห้ง และพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทานทานต่อสภาพน้ำท่วมฉับพลัน สภาพอากาศเย็น

ข้าวเหนียว มีทั้งหมด 2 สายพันธุ์ ประกอบไปด้วย สายพันธุ์ RGDU10017-1-MAS-49-4-1-NKI-1-3-1-2 เสนอเป็นพันธุ์รับรองชื่อ กข24 (สกลนคร 72) เป็นข้าวที่ไวต่อช่วงแสง ลำต้นเตี้ย ต้านทานการหักล้ม ทำให้ลดการสูญเสียผลผลิตระหว่างการเก็บเกี่ยว และสายพันธุ์ CRI13055-1-1-2-1 เสนอเป็นพันธุ์รับรองชื่อ กข26 (เชียงราย 72) ไม่ไวต่อช่วงแสง อายุสั้น ผลผลิตสูงกว่าข้าวเหนียวทั่วไปที่นิยมปลูก 13 – 15 % สามารถปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีสำหรับให้เกษตรกรได้ใช้ปลูก เพื่อเพิ่มรายได้ให้มีมากขึ้น

ข้าวขาวพื้นนุ่ม เกษตรกรสามารถเลือกใช้พันธุ์ข้าวเพื่อทดแทนการปลูกข้าวขาว พื้นนุ่ม ที่ไม่ไวต่อช่วงแสง เช่น พันธุ์ปทุมธานี 1 ที่ปัจจุบันประสบปัญหาหลายด้าน คุณภาพ การขัดสีลดลงอย่างมากทำให้การขายข้าวดังกล่าวในปัจจุบันได้ราคาลดลง อีกทั้งอายุการ เก็บเกี่ยว 120 วัน อาจยาวนานไปสำหรับเกษตรกร ที่ต้องการพันธุ์ข้าวที่มีอายุสั้นกว่า 120 วัน ซึ่งหากมีพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพหุงต้มใกล้เคียงกัน มีผลผลิตสูงกว่า และอายุสั้นกว่า เกษตรกรอาจมีทางเลือกในการเลือกปลูกข้าวขาวพื้นนุ่มได้ตลอดทั้งปี เพื่อยกระดับการ แข่งขันในด้านการส่งออกของข้าวหอม พื้นนุ่ม ของประเทศไทยในตลาดโลกได้อย่างมี ประสิทธิภาพมากขึ้น

“นอกจากประเภทข้าวที่กล่าวมาแล้ว ยังมีข้าวประเภทอื่น ๆ ที่ยังพัฒนาผลผลิต หรือคุณภาพมาทดแทนพันธุ์เดิมเพื่อใช้ประโยชน์ในการแปรรูป หรือใช้สำหรับบริโภคเฉพาะในแต่ละภูมิภาค เพื่อยกระดับการแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถผลิตข้าวได้ตรงตามความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มของประเทศจากการส่งออกข้าวคุณภาพต่อไป” อธิบดีกรมการข้าว กล่าว