เมื่อวันที่ 28 ก.พ. กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศ คาดหมายลักษณะอากาศ 7 วันข้างหน้า ระบุถึงช่วง “ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์-4 มีนาคม พ.ศ. 2567” โดยในช่วงวันที่ 28-29 ก.พ. และ 4 มี.ค. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าว มีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 1-3 มี.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ในช่วงวันที่ 27 ก.พ.-2 มี.ค. 67 ลมตะวันออกกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก ส่วนในช่วงวันที่ 3-4 มี.ค. 67 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบน ทะเลอันดามัน มีทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ตลอดช่วง

ข้อควรระวัง
ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดช่วง

โดยในช่วงวันที่ 1-4 มี.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ในระยะแรก โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @กรมอุตุนิยมวิทยา