ที่ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 2 มี.ค.67 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เดินทางมามอบแนวทางดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พล.ต.ท.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผบช.ภ.9 นายประสาร หยงสตาร์ ผอ.ปปส.ภาค 9 พ.ต.ท.มนตรี บุญยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ นายพงษ์พันธ์ แก้วพิมพ์ ผู้อำนวยการสถานพินิจฯ นายปริญญา ศรีธัญญแก้ว ผบ.เรือนจำกลางยะลา และข้าราชการตำรวจในสังกัดภูธรภาค 9 กว่า 500 นาย ร่วมรับฟังนโยบาย

พ.ต.อ.ทวีกล่าวถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ภาคใต้ว่า นอกเหนือการจับกุมคือบำบัดและดูแลเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องจัดหางานฝึกทักษะวิชาชีพให้แก่ผู้ที่ผ่านการบำบัดยาเสพติด เน้นการเข้าถึงชุมชน หมู่บ้าน ดูแลกลุ่มเสี่ยงยาเสพติดโดยใช้ความเข้าใจในสภาพพื้นที่สังคมพหุวัฒนธรรม วันนี้นักโทษกว่าร้อยละ 90 คือคดียาเสพติด อยากให้เรามาหาแนวทางการแก้ปัญหาเสพติดด้วยกัน เจ้าหน้าที่ต้องมีความรับผิดชอบแก้ปัญหาร่วมกัน เราเคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ และมีความกรุณาปราณีต่อประชาชน การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนถือเป็นหน้าที่ ยาเสพติดทำให้ไม่เกิดความสุขในครอบครัวเพราะฉะนั้นการบำบัดฟื้นฟูให้ชุมชนเข้มแข็งและ การแก้ไขปัญหายาเสพติดคือการมอบความสุขให้ครอบครัวและประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ปัญหายาเสพติด ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ห้วงปัจจุบันยาบ้า ไอซ์ และเฮโรอีน ยังคงเป็นตัวยาหลักที่มีการค้าและแพร่ระบาด โดยยาบ้าพบการค้าและแพร่ระบาดกระจายในทุกจังหวัดและอำเภอที่สำคัญ พบว่านักค้ายังคงมีความพยายามลักลอบส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านทางช่องทางธรรมชาติในพื้นที่นราธิวาสและสตูล รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน การจับกุมยึดทรัพย์ผู้ค้า การจัดการเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง เปลี่ยนผู้เสพให้เป็นผู้ป่วย ให้เข้ารับการบำบัดโดยมี 30 จังหวัดเป็นเป้าหมายแรก

หลังจากนั้น รมว.ยุติธรรมเดินทางมาที่ศูนย์พัฒนาพฤตินิสัย กรมควบคุมประพฤติปัตตานี ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อมาดูความคืบหน้าของโครงการ Drip Model ของแกนนำตำบลอาสาแก้ปัญหายาเสพติดชายแดนใต้ ที่จะแก้ปัญหายาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้คลี่คลายลง เพื่อตอบสนองความต้องการ และแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ให้ได้ นอกจากการแก้ปัญหาหลัก ที่ทำมาต่อเนื่องตามแผนงานประจำปีและตามสถานการณ์ โดยมีหน่วยราชการในพื้นที่ทั้ง พลเรือน ตำรวจ ทหาร และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด

อีกทั้งโครงการนี้ยังมีการเพิ่มความพยายาม เพิ่มน้ำหนัก และเพิ่มมิติในการแก้ปัญหา ให้มีโอกาสสำเร็จเพิ่มมากขึ้น ทางรัฐมนตรียังได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน การแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคประชาชนขึ้นมา มีหน้าที่หลักคือ ขับเคลื่อนภาคประชาชนและมวลชน ให้อาสาเข้ามาแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนของตนเอง และมีการกำหนดกรอบแนวทางการแก้ปัญหากว้างๆไว้ 4 ประการ คือ

1.กำหนดจุดศูนย์ดุลของการแก้ปัญหา อยู่ที่ชุมชนระดับดำบล หมายถึงการวางแผน การดำเนินงานและการวัดผล 1จะ1ทำที่ชุมชนเป็นหลัก 2.แนวทางการแก้ปัญหา เปลี่ยนจาก ราชการวางแผนและแก้ โดยมีประชาชนมีส่วนร่วม เป็นประชาชนหรือชุมชนวางแผนและแก้ โดยมีราชการมีส่วนร่วมและสนับสนุน

3.กำหนดงานสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่กัน 5 งานคือ งานข่าวเพื่อX-Ray และเฝ้าระวังชุมชน งานปราบปรามผู้ค้า งานบำบัดรักษาผู้เสพ งานสนับสนุนและ ส่งเสริมการประกอบอาชีพ งานสนับสนุนและส่งเสริมการเล่นกีฬา

4.กำหนดผลลัพธ์ที่ต้องการคือ ภายในวันที่ 30 ก.ย.67 ชุมชนอาสา จะต้องไม่มี ผู้ค้าและผู้เสพ ทั้งรายใหม่และรายเก่า อีกต่อไป

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานฯที่ผ่านมาได้จัดงานรวมพลังมวลชน แก้ปัญหายาเสพติดชายแดนได้ เพื่อสร้างกระแสและ สร้างการรับรู้ ที่ยะลา นราธิวาส ส่วนที่ปัตตานี สงขลา และสตูล ซึ่งได้มีการติดต่อประสานงานเชิญชวนแกนนำชุมชนระดับตำบลให้อาสาแก้ปัญหา ยาเสพติดของชุมชนตนเอง ปัจจุบันได้อาสาแล้ว 30 ตำบล และคาดว่าจะมีการอาสาเพิ่มขึ้น อีกเรื่อย ๆ เมื่อได้รับรู้และเห็นผลการดำเนินงานของตำบลอาสาชุดแรกที่ชัดเจนขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ว่าในปี 67 มีตำบลอาสา 50 ตำบล และปีต่อๆไป จะเพิ่มขึ้นอีก ทั่วทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้

รมว.ยุติธรรม กล่าวว่าวันนี้มาให้กำลังใจกับอาสาสมัครชุมชน ที่มีจำนวน 30 ตำบล 5 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นโครงการฟื้นฟูบำบัดผู้ที่ติดยาเสพติด เราจะนำผู้ที่ติดยาเสพติดที่รุนแรงและมีแนวโน้มว่าจะเป็นภัยต่อชุมชน เอาเข้ามาในโครงการเพื่อบำบัดฟื้นฟู จนสุดท้ายจะสามารถสร้างอาชีพ และติดตามผล โดยเป้าหมายแรกจะไม่ให้ทำซ้ำเป็นหลัก ต่อมาจะดูความก้าวหน้าของเป้าหมายต่อไป ซึ่งเป้าหมายของหมู่บ้านที่เข้าโครงการมา จะต้องไม่มีผู้ค้ายาเสพติด ผู้ติดยาเสพติดจะต้องได้รับการดูแล

”รัฐบาลนี้มีความมุ่งมั่นว่าจะต้องแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใน 1 ปีให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งยาเสพติดเป็นปัญหาของประชาชนทุกคน เราต้องขอความร่วมมือประชาชนทุกคน ถ้าพบเห็นผู้ใดที่เกี่ยวข้อกับยาเสพติด รวมไปถึงข้าราชการคนใดที่เกี่ยวข้อง สามารถแจ้งมาได้ที่กระทรวงยุติธรรม ทางเรารับรองว่าจะให้เป็นความลับ แล้วจะจัดการอย่างตรงไปตรงมา“ พ.ต.อ.ทวี กล่าว