“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 มี.ค.67 เป็นวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลปกครองสูงสุด ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ลงวันที่ 24 พ.ค.65 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค.63 แล้ว

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า หลังจากนี้ศาลฯ จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าว โดยตามปกติศาลฯ จะใช้เวลาในขั้นตอนนี้ประมาณ 2-3 เดือน ก่อนจะมีคำพิพากษาคดีออกมา อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.ค.66 ศาลปกครองกลาง เคยมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีดังกล่าวแล้ว แต่เนื่องจาก BTSC ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้องคดี ดังนั้นจึงต้องรอการพิจารณาของศาลฯ อีกครั้ง ซึ่งยังไม่มีกำหนดว่าศาลฯ จะพิจารณาเมื่อใด ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ก็ให้นโยบายในการดำเนินการเรื่องนี้ว่า ต้องรอคำสั่งศาลฯ ให้ถึงที่สุดก่อน จึงจะเดินหน้าโครงการฯ ต่อไปได้ 

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.4 หมื่นล้านบาท ค่างานโยธา 9.6 หมื่นล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้าบริหารการเดินรถ ซ่อมบำรุง 3.2 หมื่นล้านบาท โดย รฟม. เปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างช่วงตะวันตก ติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด และรับสัมปทานเดินรถตลอดเส้นทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) ผลปรากฏว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มีผู้รับเหมางานโยธาคือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะประมูล ซึ่งตามแผนเดิม รฟม. คาดว่าจะลงนามสัญญากับเอกชนได้ตั้งแต่ปลายปี 65 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถลงนามสัญญากับเอกชนได้ 

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า หากพิจารณาบริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเวลานี้ พบว่า แนวโน้มการลงนามสัญญาโครงการฯ ระหว่าง รฟม. กับ BEM คงจะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในเดือน มี.ค.-เม.ย.67 ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เพราะตามขั้นตอนแล้วภายหลังที่ศาลฯ มีคำพิพากษาคดีออกมาเป็นที่สิ้นสุด ทางกระทรวงคมนาคม ต้องเสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ซึ่ง รฟม. ได้เสนอมากระทรวงคมนาคมก่อนหน้านี้ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย หากผ่านความเห็นชอบจาก ครม. จึงจะสามารถลงนามในสัญญาดังกล่าว และเริ่มดำเนินโครงการต่อไปได้ 

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ขณะนี้ระยะเวลายืนยันราคาการประมูลตามที่เอกชนผู้ชนะประมูลเสนอได้หมดลงแล้ว โดย รฟม. ได้ทำหนังสือขอให้ BEM ขยายเวลาการยืนยันราคาการประมูล ซึ่งทาง BEM ก็ยินดีขยายเวลายืนยันราคาออกไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อรอการพิจารณาของ ครม. อย่างไรก็ตาม หากลงนามสัญญาได้ภายในปี 67 คาดว่าเอกชนจะใช้เวลาติดตั้งงานระบบฯ ของส่วนตะวันออกแล้วเสร็จไม่เกิน 3 ปีนับจากการเริ่มสัญญาสัมปทาน ซึ่งจะทำให้สามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% ได้ประมาณปี 70 ขณะที่การก่อสร้างส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กม. เป็นงานสถานีใต้ดินตลอดสาย คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5-6 ปี และเปิดบริการได้ประมาณปี 72-73.