เมื่อวันที่ 30 ก.ย. นพ. พงศกร จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสาร โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า หลังคลายล็อก ดูเหมือนสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อเหมือนเริ่มลดลง เด็กๆก็กำลังจะได้ฉีดวัคซีน รถราบนท้องถนนเริ่มกลับมาขวักไขว่เหมือนเดิม

ในขณะเดียวกัน เรื่องราวของโควิดก็มีอะไรแปลกๆ น่าสนใจให้เราเห็นอยู่เรื่อยๆ วันนี้ผมเลยรวบรวมข่าวประหลาดเกี่ยวกับโควิด มาฝากกันครับ

1. Ivermectin ชื่อนี้คือยาที่นำมาใช้รักษาโควิด-19 แต่ที่จริงยานี้เป็นยาที่ใช้รักษาพยาธิในสัตว์เลี้ยง จำพวกพยาธิตัวกลม และโรคหิดครับ การที่ทั้งโลกหันมาให้ความสนใจ Ivermectin เกิดขึ้นเนื่องจากประเทศอินเดียได้นำยาตัวนี้มาใช้รักษาคนไข้โควิด แล้วพบว่าได้ผลที่น่าพอใจ

เราคงจำกันได้ว่าเมื่อช่วงต้นปี โควิดระบาดหนักมากๆในอินเดีย มีศพคนตายกองกันเป็นภูเขา เผากันไม่ทันเลยทีเดียว ช่วงนั้นมีคนป่วยเยอะมากๆ แถมยาสำหรับใช้รักษาคนไข้ก็เริ่มขาดแคลน ตอนนั้นกระทรวงสาธารณสุขอินเดีย แนะนำให้ใช้ Ivermectin ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย หลังจากนั้นก็พบว่าตัวเลขคนป่วยในอินเดียก็เริ่มลดลงเป็นที่น่าพอใจ

หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศในอเมริกาใต้เลยนำ Ivermectin ไปใช้รักษาคนไข้บ้าง แต่พบว่าก็ไม่ได้มีผลช่วยให้อาการคนไข้ดีขึ้น  และจากการเก็บรวบรวมข้อมูลของหลายๆประเทศรวมถึงองค์การอนามัยโรค พบว่า Ivermectin ไม่มีผลช่วยลดความรุนแรงของคนไข้ รวมถึงไม่ได้ทำให้จำนวนคนไข้ลดลงอย่างที่อินเดียเคลม แถมยังมีผลข้างเคียงที่อันตรายอีกด้วย เรียกว่าไม่คุ้มค่ากันกับการจะเอายานี้มาใช้

เมื่อต้นมิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขอินเดียเห็นด้วยกับมติของผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก จึงได้ประกาศเลิกใช้ Ivermectin แล้ว เนื่องจากพบว่าไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่ายานี้มีประโยชน์ในการป้องกันรักษาโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม  ตอนนี้ข้อมูลเรื่อง Ivermectin ได้แชร์กันไปมากมายในโซเชี่ยล แถมยายังหาซื้อได้ไม่ยาก จึงมีคนไข้หลายคนซื้อมาใช้รักษาตัวเอง ซึ่งไม่แนะนำให้ทำอย่างนั้นนะครับ

2. ‘ทวารหนักอยู่ไม่สุข’ – Restless anal syndrome อาการประหลาดหลังจากหายป่วยโควิด

เป็นที่รู้กันดีว่าเวลาติดเชื้อไวรัส หลังจากหายป่วยแล้ว ไวรัสหลายชนิดมีการทิ้งร่องรอยฝากเอาไว้ อย่างเช่น งูสวัด หลังจากผื่นหายแล้ว ผู้ป่วยยังเกิดมีอาการแสบๆร้อนๆบริเวณผิวอยู่ได้อีกนาน โควิดก็เช่นเดียวกัน หลังคนไข้หายจากโควิดแล้ว เราพบว่ายังมีอาการหลายอย่างหลงเหลืออยู่ เช่น อาการเหนื่อยง่าย อาการอ่อนแรง เป็นต้น

ที่น่าสนใจและแปลกใจไปในเวลาเดียวกันคือ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วารสาร BMC Medical Journal มีรายงานผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นอายุ 77 ปี หลังจากหายป่วยด้วยโรคโควิดแล้ว เกิดมีอาการกระสับกระส่ายและรู้สึกว่าที่ทวารหนักมีอะไรขยับดุ๊กดิ๊กอยู่ตลอดเวลา นั่นทำให้เขาพลอยต้องคอยขยับตัวอยู่ตลอดเวลาไปด้วย เพราะถ้าอยู่นิ่งๆ อาการยุกยิกที่ก้นจะเป็นมากขึ้น

ซึ่งอาการนี้สร้างความงุนงงให้กับบรรดาแพทย์และนักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะไม่เคยพบอาการแบบนี้ในคนไข้โควิดมาก่อน ตอนนี้คุณตาอาการดีขึ้นแล้วครับ คุณหมอให้ยากลุ่มรักษาอาการชัก หลังจากกินยาอย่างต่อเนื่อง อาการประหลาดดังกล่าวก็เริ่มลดน้อยลง ผลกระทบจากโควิดต่อระบบประสาท ยังเป็นอะไรที่ใหม่มาก ยังไม่ชัดเจนว่าเกิดได้อย่างไร และจะเกิดในรูปแบบใด คงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและหาวิธีรักษาป้องกันกันต่อไปครับ

3. MIS – C กลุ่มอาการอักเสบของหลายๆอวัยวะ ที่เกิดขึ้นตามมาจากการติดเชื้อโควิด สองสัปดาห์ก่อนมีข่าวเด็กชายอายุ 13 ปี หายป่วยโควิดแล้วเกิดมีอาการหนักหลายๆระบบจนเสียชีวิต สร้างความตื่นตกใจให้กับผู้คนเป็นอย่างมาก อาการที่น้องเป็นเรียกว่า MIS -C ซึ่งย่อมาจาก Multisystem Inflammatory Syndrome in Children ถ้าเกิดในผู้ใหญ่ โรคนี้จะเรียกว่า MIS-A หรือ Multisystem Inflammatoru Syndrome in Adult MIS C เกิดขึ้นเนื่องจากหลังป่วยด้วยโควิด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดความสับสน ทำให้เกิดการอักเสบของหลายๆอวัยวะพร้อมกัน

อาการก็แล้วแต่อวัยวะที่เกิดการอักเสบ เช่น หายใจหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก (ระบบทางเดินหายใจ), ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย (ระบบทางเดินอาหาร), บางคนอาจมีไข้ มีผื่นตามร่างกาย เป็นต้น การจะรู้ว่าเป็นมิสซีหรือเปล่า ก็คือ คนนั้นต้องป่วยเป็นโควิดก่อน หลังหายป่วยด้วยโควิดแล้ว ก็เกิดมีอาการผิดปกติของร่างกายในหลายๆระบบตามมา พร้อมๆกัน

หากพบว่าตัวเองเป็นเช่นนั้น ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที อาการนี้ ถ้าพบหมอไว ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ครับ สำหรับสาเหตุที่แท้จริง องค์การอนามัยโลกเองก็ยังอธิบายไม่ได้ ว่าเกิดเพราะอะไร เกิดได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ฟังแล้วอย่าเพิ่งกังวลนะครับ เพราะอาการนี้ไม่ได้เกิดบ่อยๆ จากรายงานทางการแพทย์ของอเมริกา ในคนไข้หนึ่งแสนคน จะพบเป็นมิสซีแค่ 2 คนเท่านั้น สำหรับประเทศไทย จากการรวบรวมข้อมูลทางการแพทย์ พบมีผู้ป่วยมิสซีราวๆ 20 – 25 ราย ทุกรายรักษาหายจนกลับมาเป็นปกติ มีเพียงน้องอายุ 13 ปี เพียงรายเดียวเท่านั้นที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

นี่คือเรื่องราวที่น่าสนใจในช่วงนี้ครับ แล้วผมจะรวบรวมข่าวที่น่าสนใจ มาเล่าให้ฟังอีกเป็นระยะๆนะครับ ข้อเขียนนี้สามารถแชร์ต่อได้ แต่ไม่อนุญาตให้ก๊อบปี้ข้อความ หรือตัดต่อไปใช้เป็นของตัวเองนะครับ -นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ-30 กันยายน 2564

ขอบคุณเพจ นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ