เมื่อวันที่ 24 มี.ค. มีรายงานว่าวานนี้ (23 มี.ค.) สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ได้จัดงานเสวนา “ไทยจีนฟรีวีซ่า ความสัมพันธ์ยั่งยืน เศรษฐกิจมั่งคั่ง” โดย ดร.กำพล มหานุกูล นายกสมาคมฯ และกรรมการสมาคมฯ และได้รับเกียรติจาก นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มาร่วมปาฐกถาพิเศษ ที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ รัชดาภิเษก
กทม.

นอกจากนี้ภายในงานยังมี นายสุพจน์ วงศ์จรัสรวี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรี นายวิชัย มงคลชัยชวาล รองประธานหอการค้าไทย-จีน​ นายสุรวัช อัครวรมาศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รศ.ดร.หลี่ เหรินเหลียง จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายชิบ จิตนิยม ผู้ดำเนินรายการ “จับจ้องมองจีน” ทางเนชั่นทีวี​

นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจําประเทศไทย กล่าวว่า จีนและไทยเป็นทั้งเพื่อนบ้าน ญาติมิตร จากช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด คลิปวิดีโอกำลังใจจากชาวไทย ทำให้ชาวจีนสัมผัสได้ถึงความอบอุ่น ขณะที่จีนเองก็ส่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาสู่ไทย สองฝ่ายต่างสัมผัสได้ว่า “จีนและไทยเป็นครอบครัวเดียวกัน” และสื่อมวลชนเป็นฝ่ายที่มีบทบาทสำคัญในความร่วมมือฉันมิตรของสองประเทศ

อย่างไรก็ตาม 1 มี.ค. ปีนี้ ไทยและจีนเข้าสู่ยุคปลอดวีซ่า เอื้อต่อความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนในทุกด้าน มีนัยสำคัญเชิงสัญลักษณ์ สร้างความพึงพอใจให้ประชาชนสองประเทศ อย่างไรก็ตาม เรามักจะได้ยินเสียงที่แตกต่างกันทําให้เกิดคําถาม ซึ่งเราต้องใส่ใจทุกความคิดเห็น และตอบสนองอย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย ปี 2566 ปริมาณการค้าระหว่างจีนและไทยจะอยู่ที่ 1.26 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจีนส่งออก 7.57 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นําเข้า 5.06 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จีนมีส่วนเกินดุล 2.51 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนโดยตรงของวิสาหกิจจีนในไทยอยู่ที่ 4.6 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 109 เมื่อเทียบเป็นรายปี และมีนักท่องเที่ยวจีนในไทย 3.52 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ไทย 1.96 แสนล้านบาท

ส่วนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ไทยเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และส่งเสริมการพัฒนาของสองประเทศ ส่วนการที่บางคนมองว่าการขาดดุลการค้าระหว่างจีนกับไทยอาจทำให้ไทยเสียเปรียบนั้น เป็นความเห็นที่ไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ โดยปัจจุบันผลไม้ไทยกลายเป็นของฝากยอดนิยมของชาวจีน ซึ่งจีนเป็นแหล่งส่งออกสินค้าเกษตรไทยมากถึง 40%

ขณะที่สินค้าจีนที่นำเข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบและชิ้นส่วน ซึ่งจะผลิตและแปรรูปโดยวิสาหกิจในท้องถิ่นแล้วส่งออกโดยมีมูลค่าเพิ่ม เช่น แผ่นซิลิคอนที่ไทยนำเข้าจากจีนในมูลค่า 1.295 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออกแบตเตอรี่เซลล์แสงอาทิตย์มูลค่า 2.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายหาน กล่าวว่า เศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศต้องดูสถานการณ์โดยรวมของดุลการชำระเงิน นอกจากการค้าสินค้าแล้ว ยังต้องดูการค้าบริการ และการลงทุนทางตรงด้วย ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ไทยมีส่วนเกินมาก ปีที่แล้วนักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายเงินในไทย 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และบริษัทจีนลงทุนโดยตรงในไทย 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเปิดรับสินค้าจากไทยเสมอ 

กรณีรายงานข่าวและการพูดคุยบนออนไลน์เกี่ยวกับการส่งออกสินค้าจีนราคาถูกจํานวนมากไปยังไทย ซึ่งกระทบต่อผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันในไทย และบางส่วนยังผิดกฎหมาย เช่น ละเมิดเครื่องหมายการค้า ไม่ทำตามมาตรฐาน และเลี่ยงภาษี นายหานแสดงความคิดเห็นว่า จีนสนับสนุนให้ไทยปราบปรามปัญหาการนําเข้าสินค้าจีนที่ผิดกฎหมาย สอง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ามีกฎหมายเศรษฐกิจ และมีการแข่งขันในตลาด บางครั้งอาจมีปัจจัยที่ไม่เอื้อ ซึ่งทำให้มีคนส่วนน้อยที่ไม่พอใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสิ่งนี้ต้องได้รับการจัดการในองค์รวม สาม นโยบายปลอดภาษีของไทยสำหรับสินค้าจีนจำนวนน้อยถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและส่งเสริมการพัฒนาอีคอมเมิร์ซ 

นายหาน ยังกล่าวถึงการลงทุนของบริษัทจีนในไทย ที่มีส่วนส่งเสริมการพัฒนาของไทย อาทิ บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Huawei บริษัทยานยนต์ไฟฟ้า เช่น SAIC และ Great Wall Moter ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถของไทยในการหาเงินตราต่างประเทศผ่านการส่งออก เพิ่มรายได้จากภาษี และเพิ่มโอกาสการจ้างงาน รวมถึงทำให้ชาวไทยได้รับทักษะที่สำคัญ.