เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการจัดกิจกรรม Day builds 1st Showcase แสดงผลงานและการนำเสนอธุรกิจของนักศึกษา ภายใต้โปรแกรม builds – CMU Startup & Entrepreneurial Program ณ builds CMU อาคารศูนย์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เป็นประธานเปิดงาน มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดี การบริหารนวัตกรรม รวมถึงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำผลงานและนวัตกรรมออกมาโชว์เป็นจำนวนมาก

ภายในงานได้มีผลงานของ น.ส.ข้าว มฤคพิทักษ์ อายุ 20 ปี, น.ส.วิชชาวีร์ น้อยนิวรณ์ อายุ 19 ปี, น.ส.ภาสินี จริยานุกิจ อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายอรุณกร จักษุตน อายุ 23 ปี นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้นำแนวคิดแปลกใหม่จากอาหารขึ้นชื่อของภาคเหนือ กลายมาเป็นไอติม 3 มิติ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก เพราะมีความแปลกใหม่ และรสชาติอร่อย

ด้าน น.ส.ข้าว มฤคพิทักษ์ อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนไม่ทราบว่า มีไอติม 3 มิติ ที่เป็นลายประตูท่าแพอยู่ก่อนแล้ว แต่สิ่งที่นำมาทำแนวคิดเข้าร่วมงานและการแข่งขันในครั้งนี้ เพราะเล็งเห็นว่า อาหาร วัฒนธรรม วีถีชีวิต และประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านี้เติบโตและพัฒนามาคู่กันเสมอ สืบสานจากรุ่นสู่รุ่น พวกเราในฐานะที่ได้รับการส่งต่อสิ่งเหล่านั้นมาและต้องการที่จะอนุรักษ์ไว้ จึงได้ร่วมทั้งหมดไว้ในผลิตภัณฑ์ของเรา Tha Phae Gate 3D ice cream ซึ่งรสชาติไอศกรีมเป็นรส “ข้าวแต๋น” เป็นขนมท้องถิ่นของชาวล้านนา และลวดลายของไอศกรีมเป็นรูป “ประตูท่าแพ” แม้แต่เทศกาลสงกรานต์ การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การเข้าวัดทำบุญยังมี “ข้าวแต๋น” ก็นำเป็นหนึ่งในนั้นที่นำไปมอบหรือนำไปทำบุญด้วย ประกอบกับช่วงนี้เข้าสู่ฤดูร้อน ก็ถือเป็นอีกซิกเนเจอร์ใหม่ ที่นักท่องเที่ยวควรได้ชิม นอกจากหน้าตาที่แปลกใหม่ ไอเดียแปลกใหม่ รสชาติใหม่แล้ว ยังกินไอศกรีมเย็นๆ คลายร้อนได้อีกด้วย

“พวกเราต้องการเล่าเรื่องราว วิถีชีวิตของชาวล้านนาผ่านอาหาร การทำข้าวแต๋นนั้น มาจากภูมิปัญญาพื้นบ้านในการถนอมอาหารของชาวบ้านภาคเหนือ นอกจากนี้ข้าวแต๋น เป็นขนมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในภาคเหนือ มักพบเห็นขายตามตลาดนัดและร้านขายของฝากทั่วไป ข้าวแต๋นจึงเป็นขนมที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของภาคเหนือได้เป็นอย่างดี” น.ส.ข้าว กล่าว

น.ส.ข้าว กล่าวอีกว่า เหตุผลที่เลือกทำลวดลายประตูท่าแพ เพราะว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปและเดินเล่นชมบรรยากาศของถนนท่าแพ นอกจากนี้ ประตูท่าแพยังเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเชียงใหม่ ที่ยังคงมีคุณค่าและความสวยงามมาจนถึงปัจจุบัน และไอเดียที่ทำให้ไอศกรีมสามารถหักออกจากกันได้นั้นเลียนแบบมาจากลักษณะของประตูท่าแพ ที่มี 2 ฝั่ง เสมือนการเปิดประตูเพื่อตอนรับแขกบ้านแขกเมือง ตามความเป็นมาของประตูท่าแพ เป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมล้านนา ประตูท่าแพเป็นประตูเมืองที่สร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวล้านนาในอดีต ประตูท่าแพจึงเป็นสถานที่ที่มีความหมายเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าและความสวยงามของเมืองเชียงใหม่ สำหรับใครที่สนใจ ก็สามารถติดต่อมาที่เฟซบุ๊ก และ IG : secondyear.official ได้