จากกรณี คณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับ ป.ป.ท.เขต 4 ลุยสอดส่องสืบโครงการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง งบ 148 ล้านบาท “สร้าง 7 ชั่วโคตรยังไม่เสร็จ” ร้องเรียนหลายครั้งแล้วก็ยังไม่สร้างต่อ แม้กรมโยธาฯ ขยายเวลาให้จนใกล้ครบสัญญาแล้ว นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันตรวจสอบโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแก่งดอนกลาง งบ 39 ล้านบาท ซึ่งพบว่าเป็นผู้รับเหมารายเดียวกัน ด้านชาวบ้านแฉซ้ำตั้งแต่ร้องเรียนทั้ง 2 โครงการ ไม่เคยเห็นบริษัทรับเหมามาทำงานก่อสร้างต่อ ทำให้เกิดปัญหาสะสมเรื้อรังมานานกว่า 5 ปี ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจเมืองกาฬสินธุ์พังยับกว่า 750 ล้านบาท

นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่สอดส่องของคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ยังได้พบอีก 8 โครงการที่มาในลักษณะเดียวกัน งบประมาณกว่า 400 ล้านบาท ซึ่งทำงานล่าช้า เกินกำหนดในสัญญาและมีการเบิกจ่ายไปบางส่วน ในขณะที่ผู้รับเหมากว่า 50 ราย และชาวบ้าน ผู้ประกอบการ เตรียมตบเท้าแจ้งความเอาผิดบริษัทใหญ่ และวอนกรรมาธิการ ป.ป.ช.-ปปง.สภาผู้แทนราษฎร อภิปรายปัญหานี้ในสภา ล่าสุด ป.ป.ท.เขต 4 ขอนแก่น สายตรงถึงศูนย์อํานวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ร่วมสางปัญหา ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มี.ค. นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล รองประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ (อดีตสมาชิกวุฒิสภากาฬสินธุ์) กล่าวว่า โครงการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ และโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแก่งดอนกลางดังกล่าว ที่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ และเกินระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาจ้างของผู้รับเหมากับกรมโยธาธิการและผังเมือง ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่สอดส่องร่วมกับคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ และคณะผู้อำนวยการ ป.ป.ท.เขต 4 พบว่า นับตั้งแต่ลงมือทำงานและได้รับสิทธิขยายเวลา ที่ผ่านมาใช้เวลามากกว่า 1,300 วันทีเดียว และที่สร้างความกังขาให้กับตนและชาวบ้านคือ ไม่มีการเสียค่าปรับแม้แต่บาทเดียว

นายสิทธิศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อมูลที่พบของโครงการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ งบ 148 ล้านบาท คือ เริ่มงาน 19 เม.ย. 62 กำหนดเสร็จ 26 มิ.ย. 64 ระยะเวลาจำนวน 800 วัน ขยายเวลาครั้งแรกจำนวน 513 วัน กำหนดเสร็จ 21 พ.ย. 64 ขยายเวลาครั้งที่ 2 จำนวน 827 วัน กำหนดเสร็จ 28 ก.พ. 68 รวมขยายเวลา 2 ครั้ง จำนวน 1,340 วัน ขณะที่โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแก่งดอนกลาง งบ 39 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญา 28 ก.ย. 65 สิ้นสุดสัญญา 8 ก.ค. 67 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 650 วัน ซึ่งยังไม่ครบสัญญา อย่างไรก็ตาม ในเมื่อการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เกินกำหนดในสัญญา ทั้งยังได้สิทธิพิเศษขยายเวลาถึง 2 ครั้ง โดยมีค่าปรับเป็น 0 หรือไม่ถูกปรับแม้แต่บาทเดียว ทำให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเดือดร้อนจากโครงการที่ผู้รับเหมาทำค้างคาไว้ จึงต่างงุนงงสงสัยไปทั่วเมือง

ด้าน นายเศรษฐชัย ธารชัย อายุ 46 ปี ชุมชนหัวโนนโก เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งหน้าบ้านอยู่บริเวณจุดก่อสร้างขึ้นป้าย “ถนน 7 ชั่วโคตร” กล่าวว่า ตนและชาวบ้านในชุมชนเพิ่งทราบว่า มีการขยายเวลาก่อสร้าง 2 ครั้ง รวมระยะเวลากว่า 1,340 วัน และผู้รับเหมาที่ทำงานล่าช้าไม่ได้เสียค่าปรับดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในโลกเลยก็ว่าได้ ที่เรื่องนี้เกิดขึ้นที่เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และอีกหลายโครงการที่ทราบข่าวจากโซเชียลว่า กรมโยธาฯ นำมาลงในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยทำงานไม่เสร็จตามกรอบเวลาในสัญญา และมีการขยายเวลาการก่อสร้างออกไปโดยไม่เสียค่าปรับ ทั้งนี้ ตนและชาวบ้านจึงอยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรีบออกมาชี้แจงด้วยว่ามันเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองเรา นอกจากนี้ ยังอยากขอให้ผู้รับเหมาออกมาแสดงตัวรับผิดชอบด้วยว่า จะทำอะไรต่อไปยังไง จะปล่อยทิ้งให้ปัญหามันค้างคา และหมักหมมอยู่อย่างนี้ไปชั่วนาตาปีหรือ

ขณะที่นายกอบโชคชีพ โพธิ์สอน เครือข่ายยุติธรรมภาคประชาชน จ.กาฬสินธุ์ และตัวแทนผู้รับเหมาที่รับช่วงงานจากบริษัทรายใหญ่ กล่าวว่า หลังจากที่ตนได้รับมอบหมายจากผู้รับเหมารายย่อยรายหนึ่ง ซึ่งมารับช่วงก่อสร้างต่อ ได้ออกมาเรียกร้องสิทธิ เพราะไม่ได้รับเงินค่าจ้างตามงวดงานเป็นจำนวนเงินหลายแสนบาท และจะมีการรวมตัวกันของผู้รับเหมารายย่อยประมาณ 50 ราย เพื่อนำหลักฐานแจ้งความผู้รับเหมาใหญ่ ฐานฉ้อโกงแรงงาน ต่อมาเมื่อวานนี้ (26 มี.ค.) มีเสียงชายคนหนึ่งอ้างตัวว่าเป็นคนในทีมงานของผู้รับเหมาใหญ่ ได้โทรศัพท์มาหาตนโดยบอกว่ามีคนอยากพบและคุยด้วย ทำให้ตนรู้สึกว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย เพราะที่ผ่านมาเวลาที่ตนและผู้รับเหมารายย่อยจะไปทวงเงินตามงวดงาน ติดต่อและขอพบยากมาก จากการที่เขาโทรฯ มาบอกว่าจะมีคนขอพบและคุยด้วยดังกล่าว จึงรู้สึกเป็นเรื่องผิดปกติ และกลัวได้รับอันตรายจึงไม่อยากไป แต่หากเขาโทรฯ มาอีกจะถามให้ชัดเจนว่าคุยเรื่องอะไร หากให้ตนซึ่งเป็นตัวแทนผู้รับเหมารายย่อย หรือให้ผู้รับเหมารายย่อยเข้าไปรับเงินค่าจ้างตามงวดงานพร้อมดอกเบี้ย ก็จะพากันไปตามนัด แต่หากบอกไม่ชัดเจนก็ไม่กล้าจะไป เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัยดังกล่าว เบื้องต้นได้ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงไว้แล้ว เพื่อความสบายใจ.