เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ถึงประเด็น “โรคแอนแทรกซ์” ผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant โดยระบุว่า “ภาคใต้ของประเทศลาว กำลังมีโรคระบาดในวัว คือ “โรคแอนแทรกซ์” ครับ

สธ. ตื่น สั่งเฝ้าระวัง ‘โรคแอนแทรกซ์’ เข้าไทย หลัง สปป.ลาว ป่วย 54 คน

คำถามทางบ้าน บอกว่า “อาจารย์ครับ ข่าวติดเชื้อโรคจากเนื้อวัว มันใช่เรื่องจริงเหรอครับ” พร้อมภาพที่ส่งมาให้ตรวจสอบ เป็นมือของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ที่มีแผล ลักษณะเป็นหลุมสีดำ อยู่บนนิ้ว พร้อมข้อความว่า “แจ้งช่วงนี้ งดกินเนื้อวัว ภาคใต้ของลาว ตอนนี้ มีคนติดเชื้อ อันตรายถึงชีวิต” ?

ซึ่งพอตรวจสอบข่าวแล้ว พบว่า ช่วงนี้ ในประเทศลาวตอนใต้ มีการระบาดของโรคในวัว จริงๆ ครับ ชื่อว่า “โรคแอนแทรกซ์” ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อสู่คนได้ ผ่านการกินเนื้อวัวที่ไม่สุก หรือสัมผัสกับซากวัวที่เป็นโรค จึงขอเอามาเตือนให้ทราบกันด้วยนะครับ (เผื่อใครเดินทางไปทางด้านนั้น)

  • ในขณะนี้ กรมปศุสัตว์ ได้แจ้งเตือนการพบโรคแอนแทรกซ์ ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนในประเทศลาว โดยมีสาเหตุจากการบริโภคเนื้อโค – กระบือดิบ
  • วันที่ 7 มีนาคม 2567 มีรายงานข่าวต่างประเทศว่า พบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ 3 รายที่เมืองสุขุมา แขวงจำปาสัก ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
  • โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยโรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacillus anthracis)
  • สัตว์ที่เป็นโรคนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อแบคทีเรีย ที่ปนเปื้อนอยู่ในดินหรือหญ้า เข้าสู่ร่างกาย หรือจากการกินน้ำและอาหารที่มีเชื้อปะปนเข้าไป
  • เมื่อเชื้อเข้าตัวสัตว์ จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น พร้อมสร้างสารพิษทำให้สัตว์ป่วยและตายในที่สุด
  • ระหว่างสัตว์ป่วย เชื้อถูกขับออกมากับอุจจาระ ปัสสาวะ หรือน้ำนม เมื่อเปิดผ่าซาก เชื้อสัมผัสกับอากาศ จะสร้างสปอร์ทำให้คงทนในสภาพแวดล้อมได้นาน
  • โค กระบือ แพะ และแกะที่ป่วย จะมีอาการแบบเฉียบพลันคือ จะตายอย่างรวดเร็ว มีเลือดสีดำคล้ำไหลออกตามทวารต่าง ๆ ซากไม่แข็งตัว
  • สำหรับคนที่ผ่าซาก หรือบริโภคเนื้อสัตว์ป่วยด้วยโรคนี้ แบบสุก ๆ ดิบ ๆ จะพบแผลหลุมตามนิ้วมือ แขน หรือช่องปาก และมีอาการเจ็บปวดในช่องท้อง โรคนี้ทำให้คนตายได้หากตรวจพบโรคช้า
  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรค โดยสั่งการให้ด่านกักกันสัตว์ตามแนวชายแดนไทย – ลาว เข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าโค กระบือ แพะ และแกะที่มีชีวิต รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้วย เตรียมความพร้อมด้านวัคซีนป้องกันโรค
  • และขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ แพะ และแกะ ให้ดูแลสัตว์ของตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง และหมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตนเองอยู่เสมอ
  • ขอย้ำให้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ผ่านการปรุงสุก และเป็นเนื้อสัตว์ที่ทราบแหล่งที่มาเท่านั้น
  • หากเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไป พบโค กระบือ แพะ แกะ แสดงอาการป่วยหรือตายผิดปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุแบบเฉียบพลัน ห้ามเปิดผ่าซาก ห้ามเคลื่อนย้ายซากหรือชำแหละเพื่อการบริโภค
  • ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ หรือ ผ่านทาง Application DLD 4.0 หรือโทรศัพท์สายด่วน 063-225-6888 เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที

ข้อมูลจาก https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid02kCiYcBy1XwSfT1jajFKQLSAfzAb9vrawh1uEB2sKVcvo9nRu9v64hKVtJjkTKaoDl&id=100069322535005″

ขอบคุณข้อมูล – ภาพ เฟซบุ๊ก “Jessada Denduangboripant”