เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ปัญหาหมอกควันไฟป่า pm2.5 กลับมาวิกฤติอีกระลอก มลพิษปกคลุมหนาแน่นทั่วภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่มีค่า pm2.5 เฉลี่ยรายชั่วโมงจากเว็บไซต์ cmuccdc.org ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รายงานช่วงเช้าที่ผ่านมาพบว่า สูงสุดอยู่ที่ 395 ไมครอน ที่ 1.รพ.สันป่าตอง(2) ต.ยุหว่า อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ 395 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, 2.รร.บ้านออน จ.เชียงใหม่ 327ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, 3. บ้านหัวโท หมู่ 6 ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 319 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, 4. รพ.สต.บ้านอรุโณทัย จ.เชียงใหม่ 319 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ 5.ทต.เมืองนะ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 316 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ในตัวเมืองเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ 200 ไมครอน เป็นผลพวงจากการเผาไหม้ป่าที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก โดยวานนี้เชียงใหม่ มีจุด hotspot เกิดขึ้น 312 จุด กระจายเกือบทุกอำเภอ โดยเฉพาะทางตอนใต้

เช่นเดียวกับข้อมูลจาก https://www.iqair.com/th/thailand/chiang-mai ค่าเฉลี่ยดัชนีคุณภาพอากาศ US AQI จังหวัดเชียงใหม่ อยู่อันดับ 3 ของโลก มีค่า 180 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นสีแดง มีมีผลกระทบต่อทุกคน ความเข้มข้น PM2.5 ในภาพรวมของจังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้เป็น 22.2 เท่า ของค่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีขององค์การอนามัยโลก และยังแนวมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอีก

ด้านสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ค่ามลพิษทางอากาศที่ปกคลุมภาคเหนือของไทยเวลานี้ พบสารพิษแขวนลอยในมลพิษที่มีปริมาณเข้มข้นสูง เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ควรต้องงดทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงนี้ อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเพิ่มการดูแลสุขภาพให้กับประชาชนในห้วงวิกฤตินี้อย่างทั่วถึง ข้อมูลจากศูนย์อำนวยป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงานจุดความร้อน (Hotspot) ประจำวันที่ 29 มีนาคม 2567 รอบเช้าจังหวัดเชียงใหม่พบจุดความร้อน จำนวน 272 จุด พบในพื้นที่อำเภอสะเมิง 84 จุด, เชียงดาว 42 จุด, แม่แจ่ม 34 จุด, อมก๋อย 20 จุด, แม่แตง 18 จุด, ฮอด 16 จุด, พร้าว 13 จุด, ดอยเต่า 12 จุด, ไชยปราการ 12 จุด, แม่อาย 6 จุด, ดอยสะเก็ด 3 จุด, สันทราย 3 จุด, แม่วาง 3 จุด, ฝาง 3 จุด, แม่ออน 1 จุด, หางดง 1 จุด และแม่ริม 1 จุด.