เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพที่ดินของนายไท แดงดี วัย 54 ปี ชาวบ้านหนองหว้า ต.เฉลียง อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ประมาณ 1 งานเศษ ซึ่งอยู่บริเวณเชิงเขา และเป็นจุดที่มีทางน้ำไหลผ่านยามฝนตกเป็นประจำ จนชะล้างและทำให้ดินส่วนหนึ่งเกิดยุบตัวและพังลง แต่ดินส่วนที่แข็งส่วนใหญ่ยังคงสภาพอยู่ จนทำให้เกิดเป็นศิลปะทางธรรมชาติที่มีลักษณะคล้ายกับกำแพงดิน ที่บางคนเรียกกันว่า แกรนด์แคนยอน หรือ ละลุ ที่สวยงามอย่างมาก สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่พบเห็น ที่ไม่มีใครพลาดจะไปเก็บภาพเป็นที่ระลึกทุกคน และพากันเรียกชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า “ละลุ ครบุรี”

ซึ่งชื่อ ละลุ นั้น เป็นชื่อที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกตามกันมาจนเริ่มติดปาก โดย ละลุ เป็นภาษากัมพูชา ที่แปลว่า ทะลุ เป็นชื่อที่ใช้เรียกพื้นที่ในลักษณะนี้ในหลายๆ จุดที่มีการค้นพบอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งละลุครบุรีนั้น เพิ่งมีกลุ่มผู้ปั่นจักรยานในพื้นที่ผ่านเข้ามาพบ มีลักษณะเป็นพื้นดินลูกรังผสมหินทราย ตั้งขวางทางน้ำใต้สำนักสงฆ์ภูพระหัตถ์ ที่ตั้งอยู่บนเนินเขา มีเนื้อที่ประมาณ 1 งาน บริเวณรอบข้างพื้นที่ มีร่องรอยน้ำไหลกัดเซาะจากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูฝน ทำให้เกิดเป็นรูปร่างต่างๆ สร้างความสวยงามตามธรรมชาติ ส่วนด้านบนซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ภูพระหัตถ์ ก็จะเป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของตำบลเฉลียงจากมุมสูงได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีรอยพระพุทธบาทจำลอง และเจดีย์พระธาตุอริยมรรคผลญาณ จนมีการถ่ายรูปมาโพสต์แชร์ลงบนโลกโซเชียล และกลายเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอครบุรี และจังหวัดนครราชสีมาไปแล้ว

นายไท แดงดี เจ้าของที่ดินซึ่งเกิดเป็น ละลุครบุรี กล่าวว่า ที่ดินบริเวณนี้ เป็นจุดที่มีน้ำไหลผ่านจนกลายสภาพเป็นอย่างที่เห็น จะใช้ทำประโยชน์หรือปลูกอะไรก็ไม่ได้ เพราะเมื่อน้ำหลาก ก็จะกัดเซาะเอาดินออกไปจนหมด จึงต้องปล่อยให้อยู่ในสภาพนี้ เมื่อเห็นว่ามีคนชื่นชอบและแวะเวียนมาเที่ยวชมเป็นประจำ ก็รู้สึกดีใจ และตั้งใจที่จะปล่อยเอาไว้ในสภาพนี้ต่อไป เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่สนใจได้มาเยี่ยมชมตามอัธยาศัย ซึ่งก็ถือเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวของเมืองครบุรี อีกทางหนึ่งด้วย.