เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน และติดตามผลการดำเนินงานโครงการสำคัญตามนโยบายของ รมว.คมนาคม และรมช.คมนาคม ครั้งที่ 1/2567 ว่า ได้มอบนโยบาย และแนวทางให้หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม เร่งผลักดันการดำเนินโครงการต่างๆ ซึ่งมีเรื่องสำคัญ อาทิ มอบให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เร่งเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง มายังกระทรวงคมนาคม ภายในวันที่ 3 เม.ย. 67 เพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา คาดว่าจะมีผลใช้บังคับในปี 68

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ถือเป็นกฎหมายสำคัญมาก เพราะปัจจุบันการกำกับดูแลระบบขนส่งทางราง โดยเฉพาะรถไฟฟ้า มีบทปรับ และบทลงโทษ ที่ไม่สามารถบังคับ และดำเนินการได้อย่างเฉียบขาด มีเพียงแค่การประเมินผลการดำเนินงานที่ต้องใช้เวลานานมาก ปีละ 1 ครั้ง ดังนั้นหากกระทรวงคมนาคมเร่งผลักดันให้สามารถเกิด พ.ร.บ.การขนส่งทางรางขึ้นได้ เมื่อระบบขนส่งทางรางดำเนินงานผิดพลาด หรือเกิดอุบัติเหตุก็สามารถสั่งลงโทษ หรือสั่งปรับได้ทันที อย่างไรก็ตาม กรณีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ที่เกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง ก็ทำได้เพียงการปรับเงินที่รัฐต้องจ่ายให้ผู้รับสัมปทานได้ 5% จากประมาณปีละ 2,500 ล้านบาท หรือประมาณ 125 ล้านบาท และเมื่อผู้รับสัมปทานสามารถปรับปรุงแก้ไขได้แล้ว ก็ต้องจ่ายเงินในส่วนนั้นคืนให้กับผู้รับสัมปทาน

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้มอบให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แก้ปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ (ด่วน) ในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ พร้อมทั้งปรับลดค่าผ่านทางด่วน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ประชาชน เนื่องจากในปัจจุบันทางด่วนมีหลายเส้นทาง เมื่อเปลี่ยนจากเส้นทางหนึ่งต่อเชื่อมไปอีกเส้นทางหนึ่ง ต้องเสียค่าผ่านทางด่วนเป็นจำนวนมาก ประมาณ 150-160 บาท ซึ่งเป็นภาระให้กับประชาชนอย่างมาก ทั้งนี้ได้มอบให้ไปศึกษาว่าจะมีแนวทางอย่างไรได้บ้าง โดยอาจจะหารือกับผู้รับสัมปทานให้ลดค่าผ่านทาง และอาจชดเชยด้วยการแก้ไขสัญญาสัมปทานขยายสัมปทานทางด่วนให้ โดยให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน และนำกลับมาเสนอกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะเป็นข่าวดีให้แก่ประชาชน

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน กทพ. มีทางด่วน 7 สายทาง ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย ทางด่วนเฉลิมมหานคร, ทางด่วนศรีรัช, ทางด่วนฉลองรัช, ทางด่วนบูรพาวิถี, ทางด่วนอุดรรัถยา, ทางด่วนกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ โดยเป็นเส้นทางที่ กทพ. ดำเนินงานเอง 5 สายทาง และเป็นเส้นทางที่ให้สัมปทานกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 3 สายทาง ซึ่งมีปริมาณจราจรรวมประมาณ 1.8 ล้านคันต่อวัน

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันได้มอบกรมทางหลวง (ทล.) กำหนดตัวบุคคลที่จะรับผิดชอบ 14 สัญญาของโครงการก่อสร้างบนทางหลวงหมายเลข 35 (พระรามที่ 2) โดยให้กำหนด 1 สัญญา 1 บุคคลที่จะรับผิดชอบ เพื่อเข้าไปดูแล และเร่งรัดงานก่อสร้างจากปัจจุบันที่ล่าช้ากว่าแผน ให้กลับมาเท่าแผน และสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จได้ภายในปี 68 ตามที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน โดยการติดตามการดำเนินการดังกล่าว ทล. จะต้องรายงานมายัง รมว.คมนาคม ให้ทราบทุกเดือน ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำให้สำเร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ ต้องไม่มีถนน 7 ชั่วโคตรอีก

“ขณะนี้ทราบว่าผู้รับจ้างขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงได้ประสานกับธนาคารต่างๆ ให้ช่วยปล่อยเงินกู้ให้กับผู้รับจ้าง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือกว่า 90% แล้ว ขณะเดียวกันในส่วนของภาครัฐเองก็จะเร่งจ่ายค่า K (เงินชดเชยให้ผู้รับเหมา) ซึ่งรวมแล้วประมาณ 1,592 ล้านบาท เนื่องจาก ทล. ให้ก่อสร้างเฉพาะบางช่วง จากเดิมที่สามารถก่อสร้างได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ ทล. ห่วงว่าจะเกิดอุบัติเหตุ จึงให้มีการก่อสร้างเฉพาะกลางคืน ทำให้ผู้รับเหมามีต้นทุนสูงขึ้น โดยขณะนี้ ทล. ได้หารือกับทางสำนักงบประมาณแล้ว” รมว.คมนาคม กล่าว