จากกรณี ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริต ป.ป.ท.เขต 4 จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะกรรมาธิการ จ.กาฬสินธุ์ (กธจ.) พร้อมด้วยอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จ.กาฬสินธุ์ ติดตามความคืบหน้าแนวทางแก้ปัญหาโครงการรับเหมาก่อสร้าง ระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ ของกรมโยธาธิการและผังเมืองงบประมาณ 148 ล้านบาท และอีก 9 โครงการงบประมาณรวมกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งสร้างยังไม่แล้วเสร็จและมีปัญหาการก่อสร้าง เบื้องต้นยกเลิกสัญญา 1 โครงการ คือโครงการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ งบ 148 ล้านบาท ด้านชาวบ้านดีใจที่จะได้ผู้รับเหมารายใหม่มาทำงานต่อให้แล้วเสร็จ และร่วมพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ให้เจริญก้าวหน้าตามเป้าหมายของกรมโยธาฯ ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 5 เม.ย. นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริต ป.ป.ท.เขต 4 จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะกรรมาธิการ จ.กาฬสินธุ์ (กธจ.) กล่าวว่า หลังจากมีข่าวกำลังจะได้ผู้รับเหมารายใหม่มาทำงาน ทำให้ชาวบ้านที่ทราบข่าวต่างรู้สึกดีใจ นอกจากนี้ยังทราบว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งหน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ ซึ่งเกินกำหนดสัญญาและได้รับการขยายสัญญาเช่นกัน โดยมีข้อมูลว่าโครงการฯ มีความยาว 1,141 เมตร งบประมาณกว่า 108 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญา 12 ก.ย. 62 สิ้นสุดสัญญา 30 ก.ย. 64 แก้ไขสัญญาค่าปรับเป็น 0 ถึงวันที่ 5 ม.ค. 67 ผลงาน 79% ช้ากว่าแผน -21% เบิกจ่าย 50,377,600 บาท ซึ่งหลังจากขยายสัญญาเป็นครั้งที่ 2 พบว่าเกินมาประมาณ 3 เดือนก็ยังไม่แล้วเสร็จ และผู้รับเหมาขนย้ายเครื่องจักรหายไปนานหลายเดือน ชาวบ้านก็เกิดความสงสัย อยากได้คำตอบจากกรมโยธาฯ อีกว่า จะยกเลิกสัญญาโครงการนี้ด้วยหรือไม่ ในเมื่อเป็นผู้รับเหมารายเดียวกัน
“กรณีการยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมา 1 โครงการ คือโครงการ 148 ล้านบาท ดังกล่าว ทราบจากโยธาฯ จ.กาฬสินธุ์ ว่า ยังไม่มีประกาศเป็นทางการออกมาจากกรมโยธาฯ และผู้รับเหมาที่ถูกบอกเลิกสัญญาเป็นรายเดียวกับที่ได้งานโครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งหน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำอีกด้วย จึงเป็นประเด็นให้ชาวเมืองกาฬสินธุ์สงสัย และต้องการทราบคำตอบที่แน่ชัด ว่ากรมโยธาฯ จะแสดงความชัดเจนให้สาธารณชนรับทราบเมื่อไหร่ โดยเฉพาะประเด็นการยกเลิกตาม ว.1459 ซึ่งเป็นช่วงโควิดนั้น ทราบว่าเป็นมาตรการเกี่ยวกับโควิดในปี 65 ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้รับจ้าง ทำให้ค่าปรับเป็น 0 ถึงวันนี้ปี 67 แล้ว จะมีการปรับอะไรหรือไม่” นายชาญยุทธ กล่าว และเผยอีกว่า
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังอยากทราบว่ามีมติยกเลิกสัญญาเป็นแบบไหน เนื้อหาสาระว่าเป็นการยกเลิกหรือแก้ไขสัญญากันแน่ เพราะเท่าที่ทราบ ว.1459 นั้น เป็นการช่วยเหลือผู้รับเหมา ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด แต่ปัจจุบันสถานการณ์โควิดคลี่คลายเป็นภาวะปกติ ก็น่าจะหมดเวลาคุ้มครองโควิดแล้ว ต่อไปจะเดินหน้าไปช่วยผู้รับเหมารายเดิมอีกหรือเปล่า แต่ไม่เห็นจะช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง กรมโยธาฯ ต้องจริงใจในการแก้ปัญหา จะต้องยกเลิกทั้งสัญญาทั้งผู้รับเหมารายนี้หรือไม่ ชาวบ้านต้องการรู้กรอบเวลาที่ชัดเจน
“อยากดูบันทึกข้อความเนื้อในว่ายกเลิกโครงการ หรือยกเลิกผู้รับจ้างรายนี้ กรมโยธาฯ ควรรีบแสดงความชัดเจนออกมา รวมทั้งยกเลิกโครงการ 108 ล้าน และขึ้นแบล็กลิสต์ด้วย เพราะผู้รับเหมาเป็นรายเดียวกัน เนื่องจากชาวเมืองกาฬสินธุ์ต่างก็เอือมระอาและหมดสิ้นความเชื่อถือผู้รับเหมารายนี้ ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้เอาสัญญามาเปิดให้สาธารณชนทราบว่า ต่อไปนี้ใครจะมารับงานโครงการนี้ ระยะเวลาทำงานกี่วัน งบประมาณเท่าไหร่ คณะควบคุมงานและตรวจรับงานมีใครบ้าง ทางคณะธรรมาภิบาลฯ จะได้มีข้อมูลเพื่อร่วมสอดส่อง ในการใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด และในส่วนความเสียหายที่ผ่านมาใครจะรับผิดชอบในการเยียวยาชาวบ้าน ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เดือดร้อน รวมทั้งจะคืนสภาพถนนอย่างไร จะมีการเรียกเงินจากผู้รับเหมารายเดิมที่ทำงานไม่เสร็จคืนหรือเปล่า ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รู้ อย่าให้ตกอยู่ในความอึมครึมเหมือนอยู่ในแดนสนธยาอย่างที่ผ่านมา” นายชาญยุทธ กล่าวและเผยตอนท้ายว่า
จากการพูดคุยกับ นายวิจิตร งามชื่น โยธาฯ จ.กาฬสินธุ์ ทำให้ทราบว่า ได้ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้าง 2 โครงการคือโครงการวางระบบท่อป้องกันน้ำท่วมเมืองฯ และโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแก่งดอนกลาง หลังชาวบ้านร้องเรียนให้ตรวจสอบ เพราะได้รับความเดือดร้อนจากการทำงานที่ล่าช้า โดยตัวแทนผู้รับเหมาได้แจ้งว่า ยังมีอีก 8 โครงการใน จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งผู้รับเหมาเจ้าเดียวทำงานไม่เสร็จ เกินกำหนดในสัญญาและได้รับการขยายเวลาทำงานออกไปโดยไม่เสียค่าปรับ เท่ากับว่าผู้รับเหมาขาใหญ่รายนี้เข้ามาทำงานในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ถึง 10 โครงการ
ทางคณะธรรมาภิบาลฯ พยายามติดตามข้อมูลว่าอีก 8 โครงการนั้นอยู่ที่ไหนบ้าง กระทั่งทราบจาก นายวิจิตร งามชื่น โยธาฯ จ.กาฬสินธุ์ ว่า ข้อเท็จจริงมีเพียง 6 โครงการเท่านั้น คือ (1) โครงการก่อสร้างเขื่อนกันตลิ่งริมลำน้ำปาว หน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ งบกว่า 108 ล้านบาท (2) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ งบกว่า 59 ล้านบาท (3) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี (ระยะ 2) วัดลำชีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ งบกว่า 59 ล้านบาท (4) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปาว บริเวณซอยน้ำทิพย์ เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ งบกว่า 59 ล้านบาท (5) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี บ้านหนองหวาย-บ้านหนองคล้า ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ งบกว่า 39 ล้านบาท และ (6) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำพาน ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ งบกว่า 44 ล้านบาท รวมงบประมาณทุกโครงการกว่า 558,281,000 บาท ซึ่งทุกโครงการช้ากว่าแผน มีการเบิกจ่ายไปบางส่วน รวมเป็นเงินจำนวนมากกว่า 154,871,250 บาท แต่ได้รับการขยายเวลาทำงาน โดยมีค่าปรับเป็น 0 บาท.