เป็นที่ชัดแจนแล้ว สำหรับ “คอบอล” ที่การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2026 หรือในอีก 2 ปี  ข้างหน้า ที่มีกำหนดให้มีการแข่งขันที่ประเทศแคนาดา เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา  คนไทยอาจไม่ได้ดูการถ่ายทอดสดฟรีผ่านทีวีภาคพื้นดิน หรือ ทีวีดิจิทัล ทุกนัดแล้ว!!

เมื่อที่ประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 2  เม.ย. ที่ผ่านมา ได้มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เห็นชอบให้ตัดรายการ ฟุตบอลโลก ออกจากหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (ประกาศมัสต์แฮฟ)

ซึ่งประกาศฉบับนี้ได้ระบุให้รายการกีฬา 7 ประเภท ประกอบด้วย ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, เอเชียนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์,  พาราลิมปิกเกมส์ และ ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย  ต้องนำทั้ง 7  รายการ มาเผยแพร่ผ่านทางโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (ภาคพื้นดิน) เป็นอันดับแรก ทำให้เหลือเฉพาะรายการกีฬา 6 ประเภท ประกอบด้วย ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, เอเชียนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ เท่านั้นที่ยังคงอยู่ในกฎมัสต์แฮฟ (Must Have)

ภาพ pixabay.com

เมื่อตัดรายการฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ออกจาก “กฎมัสต์แฮฟ” ไม่มีรายการนี้แล้ว ก็ทำให้ไม่จำเป็นต้องนำการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ออกอากาศผ่านฟรีทีวีทุกช่องตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ปี 2556 หรือประกาศมัสต์แครี่ (Must Carry) อีกแล้ว

ทำให้ผู้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายในการจัดแข่งขันครั้งต่อไป หรือ  “ฟุตบอลโลก 2026”  ไม่ถูกบังคับให้ต้องนำมาถ่ายทอดออกฟรีทีวีทุกนัดอีกต่อไป

เรียกง่ายๆ ว่า  คนที่ได้ลิขสิทธิ์มาอยู่ในมือ สามารถนำไปทำการตลาดและบริหารสิทธิในการถ่ายทอดสดได้ เพื่อหารายได้ตามลิขสิทธิ์ที่ได้จากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า!!

ปมเหตุแห่งการเกิดปัญหาในเรื่องนี้ มาจากความวุ่นวายในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในช่วงหลัง ซึ่งหลังจากที่ กสทช. ได้ออกประกาศมัสต์แฮฟ และประกาศมัสต์แครี่ ออกมาเมื่อ 10 ปีก่อน ทำให้ผู้ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกต้องทำตามประกาศที่ กสทช.ออกมา

ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต 

จนเกิดเป็นกรณีพิพาทในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014  หรือปี 57  ที่ทาง บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ผู้ได้สิทธิ ได้ ฟ้องร้อง กสทช. ต่อศาลปกครอง จนชนะคดี เพราะได้ซื้อลิขสิทธิ์มาก่อนที่จะมีประกาศมัสต์แฮฟ และประกาศมัสต์แครี่ ออกมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการทำรัฐประหารเมื่อ  22 พ.ค. 57 ทาง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้น ก็ได้ประสานไปยัง กสทช. ให้หาแนวทางคืนความสุขให้กับประชาชน ให้ได้รับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ทั้ง 64 นัด ผ่านฟรีทีวี

จึงเป็นที่ผ่านมาของการที่ กสทช. ได้นำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จำนวน 427 ล้านบาท มาจ่ายชดเชยให้กับอาร์เอส เพื่อให้สามารถนำฟุตบอลโลกมาถ่ายทอดสดให้คนไทยได้ดูฟรีทั้งประเทศ

ภทพ pixabay.com

หลังจากนั้นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในครั้งต่อๆ ไปก็เกิดดราม่าตามมา เมื่อค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด ก็แพงขึ้นทุกครั้ง จึงหาเอกชนไทยซื้อลิขสิทธิ์ได้ยากขึ้น เพราะต้องจ่ายแพง!! และยังต้องนำมาถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวี จึงดูแล้วไม่คุ้มค่ากับการลงทุน!!

นอกจากนี้อย่างฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งล่าสุดปี 2022 ก็เกิดดราม่าสุดใหญ่ เมื่อใกล้ถึงวันเปิดการแข่งขันแล้ว ยังไม่มีเอกชนรายใดยื่นขอซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดสดในประเทศไทย  ด้วยค่าลิขสิทธิ์ที่ว่ากันว่าตั้งไว้สูงถึง 1,600 ล้านบาท!! เป็นการขายสิทธิแบบแพ็กเกจในทุกแพลตฟอร์ม

จนต้องทำให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ต้องประสานรัฐบาล เพื่อขอให้ กสทช. เข้ามาช่วยสนับสนันเงิน จากกองทุน กทปส. จำนวน 600 ล้านบาท ถือเป็นเงินก้อนใหญ่สุด นำไปรวมเอกชนที่เข้าร่วมสนับสนุน ซึ่งการให้เงินสนับสนุนของ กสทช.ในครั้งนั้น คือ ต้องมีการถ่ายทอดสดฟรีผ่านทุกแพลตฟอร์ม อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม!!

แต่ก็ไม่วายเกิดดราม่าขึ้นอีก เมื่อผู้ประกอบการฟรีทีวีหลายๆ ช่อง มีการร้องเรียนถึงความไม่เท่าเทียมว่า ทีวีบางช่องในเครือของเอกชนที่เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนเงิน ได้สิทธิในการเลือกถ่ายทอดสดคู่ใหญ่ๆ ก่อน รวมถึงกรณี จอดำบนทีวีบนจานดาวเทียมระบบ C-Band (จานดำ) เนื่องจากมีการละเมิดลิขสิทธิ์ สัญญาณลอดไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน จนโดนฟีฟ่าขู่ตัดสัญญาณยึดลิขสิทธิ์คืน!!

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในฟุตบอลโลก 2022 ทำให้เกิดความขัดแย้ง ทาง สำนักงาน กสทช. ทวงเงินสนับสนุน 600 ล้านบาท คืนจาก กกท.จึงเป็นข้อพิพาท “คาราคาซัง” มาจนถึงทุกวันนี้ ลามต่อไปถึงเรื่องการที่บอร์ด กสทช. มีมติปลด นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล จากรักษาการเลขาธิการ กสทช. จนกว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอนุมัติเงินสนันสนุนฟุตบอลโลก จะออกมา

และหลังจบฟุตบอลโลก 2022 จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่ทาง กสทช.ต้องการยกเลิกประกาศมัสต์แฮฟ!!

ภาพ pixabay.com

ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช. (ด้านกิจการโทรทัศน์) บอกว่า ก่อนหน้านี้ บอร์ด กสทช. มีแนวคิดจะยกเลิกกฎมัสต์แฮฟ ทั้งหมดเลย แต่เมื่อนำมารับฟังความคิดเห็น (พับพลิค เฮียร์ริ่ง) แล้ว มีข้อแนะนำจากสังคม และบางกลุ่ม ว่า ไม่ควรยกเลิกทั้งหมด ควรตัดเฉพาะฟุตบอลโลกเท่านั้น  ทางบอร์ดจึงนำเรื่องนี้มาพิจารณาใหม่ แล้วมีมติตัดเฉพาะ ฟุตบอลโลกเท่านั้น

“ฟุตบอลโลก เป็นรายการกีฬาที่มีมูลค่าการตลาดสูง ควรปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ เพื่อนำมาเผยแพร่ และทำการตลาดในภาคธุรกิจได้ โดยปัจจุบันรายการไลฟ์สปอร์ต อย่างฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เป็นโปรแกรมมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และในปัจจุบันบริบทต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปแล้วเพราะกฎมัสต์แฮฟ ประกาศใช้เมื่อปี  55 และการบังคับให้เอกชนออกอากาศทั่วไป จะทำให้เอกชนจะไม่กล้าลงทุนไปซื้อลิขสิทธิ์ และการตัดออกก็จะทำให้ภาครัฐไม่ต้องเข้าไปใช้เงินสนับสนุนอีก  นอกจากนี้ ตามกฎของฟีฟ่า ก็มีข้อกำหนดให้ผู้ซื้อลิขสิทธิ์ ต้องนำคอนเทนต์บางส่วน ต้องมาออกฟรีทีวีอยู่แล้ว 200 ชั่วโมง”

เมื่อทางบอร์ด กสทช. มีมติแล้ว คงต้องรอว่าฟุตบอลโลกครั้งต่อไปดราม่าเรื่องต่างๆ จะหมดไปหรือไม่ อย่างไรก็ตามก็มีคำถามตามมาว่า ถ้าหากในอนาคต ฟุตบอลทีมชาติไทย ได้ผ่านเข้ารอบฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายล่ะ? เชื่อว่าถึงเวลานั้นจริงๆ จะมีเอกชนแห่กันลงขันขอซื้อลิขสิทธิ์มาให้คนไทยได้ดูถ่ายทอดสดอย่างแน่นอน!!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์