สำหรับผู้เชี่ยวชาญหลายคน ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว หรือ Transient Ischemic Attack (TIA) คือสัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง และควรได้รับการรักษาจากแพทย์ แม้อาการนี้จะเกิดขึ้นและกินเวลาไม่นานนัก แต่มีสถิติจากสมาคมโรคหัวใจอเมริกันว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะ TIA ราว 1 ใน 5 คน จะเกิดภาวะสมองขาดเลือดอย่างเฉียบพลันหรือสโตรก (Stroke) ตามมาในระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน

ดร.แลร์รี โกลด์สไตน์ ผู้อำนวยการร่วมของสถาบันประสาทวิทยาแห่งเคนทักกี อธิบายว่าอาการของ TIA คล้ายกับอาการของสโตรก แต่กินระยะเวลาไม่กี่นาที อาการนี้เกิดจากการลำเลียงเลือดไปยังสมองเกิดขัดข้องหรือโดนรบกวน

ปกติแล้ว อาการ TIA จะหายได้ในเวลา 24 ชม. ส่วนระยะเวลาการเกิดอาการนั้นมักจะไม่เกิน 1 ชม.

ต่อไปนี้คืออาการที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าคือสัญญาณเตือนของ TIA และคำแนะนำในการรับมือ

  1. สูญเสียการทรงตัวและรู้สึกว่ากล้ามเนื้ออ่อนแอ นี่คืออาการที่เกิดขึ้นมากที่สุดในกลุ่มผู้ป่วย TIA ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
  2. สูญเสียการมองเห็น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับดวงตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง รวมทั้งการเห็นภาพซ้อน 
  3. ใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งห้อยตกลงจนผิดรูปเมื่อเทียบกับอีกข้าง หรือรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าได้ นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกว่ามีอาการชาบนใบหน้า ไม่สามารถยิ้มหรือเคลื่อนไหวริมฝีปากได้ ซึ่งคล้ายกับอาการของโรค Bell’s palsy หรือโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก จึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุในทันที
  4. แขนอ่อนแรง ไม่สามารถยกหรือถือสิ่งของได้หรือรู้สึกว่าทำได้ยาก โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องนี้มาก่อน อาการเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นกับร่างกายเพียงซีกใดซีกหนึ่งเท่านั้นเช่นกัน
  5. มีปัญหาในการพูดหรือไม่สามารถพูดได้ตามปกติ เช่น คิดคำที่ต้องการพูดไม่ออก, พูดไม่ชัดเหมือนมีอาการลิ้นแข็งหรือคำพูดสับสน ทั้งที่ไม่เคยมีปัญหานี้มาก่อน

ภาวะ TIA ถือว่าเป็นอาการป่วยฉุกเฉิน เมื่อมีอาการเกิดขึ้น ควรรีบไปหาแพทย์ในทันทีเพื่อรับการรักษา ซึ่งจะช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองขาดเลือดเฉียบพลันได้อย่างมาก เพราะระหว่างตรวจ แพทย์จะต้องสแกนสมองและหลอดเลือด รวมถึงประเมินการทำงานของหัวใจ ตรวจหาปัจจัยเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวการที่ช่วยเพิ่มอัตราเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองทั้งสิ้น

เมื่ออาการผิดปกติของร่างกาย เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ, มีคราบไขมันหรือตะกอนสะสมที่ผนังด้านในของหลอดเลือด ฯลฯ ได้รับการรักษา ย่อมช่วยลดอัตราเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือพิการได้ 

ที่มา : huffpost.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES